Rotfaithai.Com :: View topic - ข่าวทางรถไฟสายอุดรธานี-บึงกาฬ (21/06/65)
View previous topic :: View next topic
Author
Message
Mongwin
1st Class Pass (Air) Joined: 24/09/2007 Posts: 46845
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา
Posted: 21/06/2022 5:27 pm Post subject: ข่าวทางรถไฟสายอุดรธานี-บึงกาฬ (21/06/65)
ชงรถไฟสายใหม่อุดร-บึงกาฬต่อ"ลาวลิ้งก์"ขนสินค้าอีสานลงท่าเรือเวียดนาม
หน้าแรก เศรษฐกิจ ภูมิภาค
ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล | 21 มิ.ย. 2565 เวลา 11:41 น.
เอกชนบึงกาฬชงรถตัดทางรถไฟสายใหม่ คู่ขนานถนนอุดรธานี-บึงกาฬ รองรับเมกะโปรเจ็กทางด่วน-รถไฟของสปป.ลาว ไปออกทะเลที่ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างในเวียดนาม ตามยุทธศาสตร์ LLL พร้อมเร่งทางรถไฟไทย-จีน ช่วงโคราช-หนองคาย ให้เสร็จโดยเร็ว ก่อนตกขบวนโครงข่ายโลจิสติกส์ภูมิภาค
นายเจตน์ เกตุจำนง ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ นักธุกิจระหว่างประเทศไทย-ลาว เปิดเผยว่า จากการติดตามข่าวสารของสปป.ลาวและเวียดนาม พบว่า หลังจากเปิดใช้งานรถไฟจีน-ลาว จากพรมแดนลาว-จีนตอนเหนือ ลงมาถึงเวียงจันทน์แล้ว ล่าสุดทางการสปป.ลาว โดยความร่วมมือกับทางการเวียนดนาม มีแผนลงทุน 2 โครงการใหญ่ ตามยุทธศาสตร์ LLL-LAOS Logistic Link ทั้ง 2 โครงการ มีมูลค่าโครงการรวมกันประมาณ 400,000 ล้านบาท
โครงการแรกคือ ต่อทางรถไฟ ขนาดรางกว้าง 1.435 เมตร จากเวียงจันทน์ ผ่านแขวงบอลิคำไซ และแขวงคำม่วน ไปสิ้นสุดโครงการที่ท่าเรือน้ำหวุงอ๋าง เมืองฮาติงห์ เมืองชายฝั่งทะเลในประเทศเวียดนาม ระยะทาง 565 ก.ม.เศษ โครงการนี้ผสมผสานทั้งระบบรางและระบบล้อ คือมีเส้นทางถนนคู่ขนานด้วย
โครงการที่ 2 คือ โครงการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือหวุงอ๋าง ที่ประเทศเวียดนามอนุญาตให้เอกชนลาวเข้าไปลงทุนพัฒนา เพื่อเป็นท่าเรือน้ำลึก รองรับการขนส่งสินค้าและระบบโลจิสติกส์จากสปป.ลาว ไปออกทะเล เป็นการปลดล็อกสปป.ลาว จากประเทศแลนด์ล็อก(ไม่มีทางออกทะเล) สู่ประเทศแลนด์ลิ้งก์ (เชื่อมโยงการเดินทางทางบกในภูมิภาค)
นายเจตน์ กล่าวอีกว่า เมกะโปรเจ็กสปป.ลาว 2 โครงการดังกล่าว เป็นโครงข่ายด้านการเดินทางคมนาคมขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ เส้นทางใหม่ เพิ่มเติมจากท่าเรือเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทย ช่วยลดระยะทางการขนส่งจากสปป.ลาว ถึงตลาดเมืองท่าแนวฝั่งตะวันออกของประเทศจีนลงได้มากกว่าครึ่ง รวมถึงเป็นคู่แข่งการเป็นฮับโลจิสติกส์ของไทยในภูมิภาค สินค้าทั้งหมดของภาคอีสานจะหันไปใช้เส้นทางดังกล่าวแทนเมื่อแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ
"ไทยอาจเสียโอกาสหากไม่เร่งปรับตัว โดยต้องเร่งรัดโครงการรถไฟไทย-ลาว-จีน ที่ไม่ก้าวหน้าให้เดินเร็วขึ้น เปลี่ยนแนวคิดจากคู่แข่งมาเป็นคู่ค้า หาทางนั่งพูดคุยหารือจีน-สปป.ลาว-เวียดนาม ในฐานะเพื่อนบ้านในภูมิภาค ให้ไทยมีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าวในอนาคต โดยเร่งศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่คู่ขนานกับถนนสายใหม่อุดรธานี-บึงกาฬ ระยะทาง 152 กิโลเมตร เพื่อไปเชื่อมต่อกับทางรถไฟสปป.ลาว-เวียดนามในอนาคต"
นายเจตน์กล่าวต่อไปอีกว่า สปป.ลาววางยุทธศาสตร์การพัฒนา เพื่อเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล สู่ประเทศที่เป็นข้อต่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งของภูมิภาค(แลนด์ลิ้งก์) หรือยุทธศาสตร์ LLL มาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว ประกอบกับลาว จีน และเวียดนาม มีระบอบการปกครองคล้ายคลึงกัน เมื่อโครงการรถไฟจีน-ลาวเปิดใช้โครงการแล้ว จึงหันมาให้ความสนใจกับโครงข่ายยุทธศาสตร์ต่อเนื่องของลาวดังกล่าว ซึ่งจะเป็นอีกเส้นทางเชื่อมโยงการค้าการขนส่งของภูมิภาค
ผลประโยชน์ของโครงการนี้จะเกิดกับทั้ง 4 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนฝั่งตะวันออกตามแนวชายฝั่ง เมื่อลาวมีทางออกสู่ทะเลจีนใต้ที่ท่าเรือหวุงอ๋างแล้ว จะทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการขนส่ง และประหยัดเวลาการขนส่ง จากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนไปยังมณฑลชายฝั่งตะวันออกของจีนได้ ไม่ต้องขนส่งผ่านท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทย ที่ต้องเดินทางอ้อมแหลมญวนได้กว่าครึ่ง
โดยโครงการใหม่มีส่วนแตกต่างไปคือ จากความร่วมมือ 2 ฝ่าย เพิ่มเป็น 3 ฝ่าย คือมีเวียดนามด้วย ขณะที่แผนงานก่อสร้างทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ในส่วนประเทศไทยยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้การขนส่งระหว่างไทย-ลาวยังไม่สะดวก หากโครงการทางด่วนทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึกลาวในเวียดนามแล้วเสร็จ จะส่งผลให้โลจิสติกส์ไทยเสียโอกาส จึงต้องเร่งพิจารณาแนวทางแก้ไข โดยเข้าไปมีส่วนร่วมกับเพื่อนบ้านให้มากกว่าเดิม เพื่อจะไม่ตกขบวนการพัฒนาของกลุ่มอาเซียน
นายเจตน์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ทางการไทยควรเร่งรัดโครงการก่อสร้างทางรถไฟไทย-จีน โดยเฉพาะระยะที่ 2 โคราช-หนองคาย ที่ยังไม่กำหนดเวลาแล้วเสร็จ ให้มีความชัดเจนและเปิดใช้โดยเร็ว ส่วนการขนส่งระบบล้อ หรือรถบรรทุกก็มีปัญหา เรื่องน้ำมันดีเซลขึ้นราคาเกือบทุกวัน ต้องหันไปให้ความสำคัญกับการขนส่งทางรางให้มากขึ้น
เอกชนในพื้นที่บึงกาฬทุกภาคส่วน เห็นความสำคัญในเรื่องนี้มาก จึงได้นำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ผ่านการประชุมกรอ.จังหวัดบึงกาฬ พร้อมกันนี้ก็ได้นำเสนอต่อ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งก็มีแนวคิดที่สอดคล้องกัน เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปแล้ว นายเจตน์กล่าว
ทั้งนี้ ที่บึงกาฬขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 เชื่อมกับเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซของสปป.ลาว เริ่มก่อสร้างเมื่อปลายปี 2563 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 43709
Location: NECTEC
Posted: 22/06/2022 4:08 pm Post subject: Re: ข่าวทางรถไฟสายอุดรธานี-บึงกาฬ (21/06/65)
ชะรอยกะจะเชื่อมสถานีปากซันสินะแต่ไม่กล้าไปจากหนองคาย เพราะ มีทางหลวง 212 ใช้งานอยู่แล้ว
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 43709
Location: NECTEC
Posted: 03/05/2023 8:59 pm Post subject:
ลุงป้อมลั่นเป็นรัฐบาลยกระดับอีสานทันทีชูรถไฟทางคู่บึงกาฬ-อู่ตะเภา
01 พ.ค. 2566 เวลา 17:50 น.
ลุงป้อมเก็บคอลคุยชาวมหาสารคามระหว่างเดินสายลงพื้นที่ภาคอีสาน ปชช.หวังให้เป็นนายกฯคนที่ 30 พาคนไทยสู่ความสุข ชู อีสานประขารัฐ สร้างรถไฟทางคู่ บูมพัฒนาพื้นที่ 24 จ.อีสาน-ตะวันออก ควบคู่สร้างงาน-การศึกษาคุณภาพ
แฟนเพจเฟซบุ๊ก FC ลุงป้อม โพสต์คลิปวิดีโอคอลขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี วิดีโอคอลถึงพูดคุยกับประชาชนชาวแก่งเลิงจาน จ.มหาสารคาม ในช่วงระหว่างลงพื้นที่หาเสียงในภาคอีสาน ที่มีกำหนดปราศรัยใหญ่ที่ จ.ร้อยเอ็ด
ช่วงหนึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้ใช้เวลาวิดีโอคอลพูดคุยกับประชาชนใน จ.มหาสารคาม เพิ่อทักทาย และรับฟังปัญหาความเดือดร้อน โดยกล่าวผ่านวิดีโอคอลว่า ทุกคนสบายดีนะครับ ขอฝากพรรคพลังประชารัฐ และผู้สมัครส.ส.มหาสารคามของพรรคด้วย ตัวแทนประชาชนจึงได้กล่าวตอบว่า จะสบายกว่านี้ หากได้ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯคนที่ 30
นอกจากนี้ประชาชนชางมหาสารคาม ยังอวยพรให้ พล.อ.ประวิตร และพรรคพลังประชารัฐ ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งที่กำลังมาถึง ขอให้ ลุงป้อม โชคดี วีนนี้ขอเรียก ลุงป้อม ว่า พี่ป้อม พวกเราชาวมหาสารคามขอเชียร์ พี่ป้อม เบอร์ 37 และขอให้ได้เป็นนายกฯคนที่ 30 รวมทั้งพาคนไทยไปสู่ความสุขด้วย ประชาชนรายหนึ่ง ระบุ
รายงานข่าวแจ้งว่า การลงพื้นที่หาเสียงภาคอีสานของ พล.อ.ประวิตร ที่ จ.ร้อยเอ็ด เป็นการลงพื้นที่ต่อจาก จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 30 เม.ย.66 โดย พล.อ.ประวิตร กล่าวกับประชาชนใน จ.ขอนแก่นว่า หากได้เป็นรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐจะทำนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทันที เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาทต่อเดือน พร้อทวงเงินประกันชีวิต 2 แสนบาท, เพิ่มงบกองทุนหมู่บ้านฯให้กองทุนละ 2 แสนบาท, ลดราคาน้ำมัน ราคาแก๊ส และค่าไฟฟ้าในทันที
นโยบายเพิ่มเงินในบัญชีของประชาชน อาทิ สวัสดิการผู้สูงอายุ 3 4 5 และ 6 7 8 โดยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับ 3 พันบาท อายุ 70 ปีขึ้นไปได้รับ 4 พันบาท และอายุ 80 ปีขึ้นไปจะได้รับ 5 พันบาท, นโยบาย แม่ บุตร ธิดา ประชารัฐ มอบเงินให้ผู้ที่ตั้งครรภ์เดือนละ 1 หมื่นบาท เป็นเวลา 5 เดือนจนกว่าจะคลอด และเงินช่วยดูแลลูกอีกเดือนละ 3 พันบาท จนถึง 6 ขวบ, สนับสนุนเงินให้เกษตรกรทั่วประเทศ จำนวน 3 หมื่นบาท จำนวน 8 ล้านครอบครัว เพื่อแก้ปัญหาความยากจน
นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ยังได้เน้นย้ำถึงนโยบายอีสานประชารัฐ ในการยกระดับการขนส่งคมนาคม และพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับระบบการศึกษาที่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ โดยจะเชื่อมทางรถไฟจากภาคอีสานและภาคตะวันออกให้เป็นรถไฟทางคู่ (บึงกาฬ-ท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือมาบตาพุด-สนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง) ระยะทาง 480 กม. ที่จะเป็นการพัฒนาพื้นที่ 24 จังหวัดในภาคอีสาน และภาคตะวันออก สอดรับกับโครงการอีอีซี ทั้งนี้จะเริ่มสร้างเมื่อพรรคพลังประชารัญได้เป็นรัฐบาล ซึ่งได้มีการสำรวจเส้นทางเรียบร้อยแล้ว
Back to top
Wisarut
1st Class Pass (Air) Joined: 27/03/2006 Posts: 43709
Location: NECTEC
Posted: 26/04/2024 11:50 am Post subject: Re: ข่าวทางรถไฟสายอุดรธานี-บึงกาฬ (21/06/65)
มนพร ดันรถไฟทางคู่-โปรเจ็กต์ถนน 7.9 หมื่นล้าน บูม 4 จังหวัดแดนอีสาน
ฐานเศรษฐกิจ
วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 เวลา 17:17 น.
มนพร เทงบ 79,590 ล้านบาท ปลุกรถไฟทางคู่-โปรเจ็กต์ถนน หนุน 4 จังหวัด สกลนคร-นครพนม-มุกดาหาร-บึงกาฬ ลุยอัพเกรดโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้า-ท่องเที่ยว
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้เข้าร่วมการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นภาครัฐ เอกชน และประชาชน 4 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และบึงกาฬ โดยการเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ เป็นโอกาสที่กระทรวงคมนาคมจะได้ทำความเข้าใจและชี้แจงถึงการขับเคลื่อนงบประมาณของประเทศ
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมมีโครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ทั้งรถไฟทางคู่และโครงข่ายทางถนน งบลงทุนกว่า 72,340 ล้านบาท การบริหารงบประมาณประจำปี 2567 อีกกว่า 1,605 ล้านบาท และโครงการสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของพื้นที่ที่อยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบประมาณในปี 2568 อีกว่า 5,645 ล้านบาท ให้มีความเจริญเติบโตและส่งเสริมความยั่งยืนทางการคลังแก่เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมจังหวัด และหอการค้าจังหวัดในพื้นที่เพื่อให้งบประมาณของประเทศได้มีการใช้จ่ายงบประมาณลงไปยังประชาชนได้อย่างทั่วถึงและสร้างประโยชน์ให้ได้มากที่สุดไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยว
นางมนพร กล่าวต่อว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเจริญเติบโตแบบยั่งยืน โดยเฉพาะ 4 จังหวัดภาคอีสานที่มีพื้นที่ติดกับ สปป. ลาว และสะพานมิตรภาพเชื่อมต่อกันถึง 2 แห่ง ที่นครพนมและบึงกาฬ เป็นเขตเศรษฐกิจที่มีความพร้อมในการพัฒนาและมีศักยภาพสูง กระทรวงคมนาคมจึงเร่งพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อม 4 จังหวัด ทั้งการเดินทางขนส่งเชื่อมโยงภายในประเทศและ สปป.ลาว-เวียดนาม-จีน
สำหรับโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม งบประมาณ 66,785.53 ล้านบาท, โครงการก่อสร้าง ทล.2032 งบประมาณ 979.4 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจร ทล.212 งบประมาณ 669.4 ล้านบาท และโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 จังหวัดบึงกาฬ (บึงกาฬ ปากซัน) งบประมาณ 3,906 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2567 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เกิดผลดีต่อการค้า การลงทุน การจ้างงาน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจการขนส่งของทั้งสองประเทศ ทำให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกรวดเร็ว ลดระยะเวลาการเดินทาง ส่งผลไปถึงการเชื่อมต่อและพัฒนาการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทย เวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีนทางตอนใต้ เกิดการขยายตัวของเมือง ยกระดับจากเมืองรองให้เป็นเมืองท่องเที่ยวหลักได้
มนพร ดันรถไฟทางคู่-โปรเจ็กต์ถนน 7.9 หมื่นล้าน บูม 4 จังหวัดแดนอีสาน
ส่วนในปีงบประมาณ 2567 กระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม วงเงิน 1,605 ล้านบาท ได้แก่ โครงการขยายถนน ทล.212 ตอน อำเภอปากคาด- หอคำ เป็น 4 ช่องจราจร ,โครงการขยายถนน ทล.22 ตอน สูงเนิน-ท่าแร่ จาก 4 ช่องจราจร เป็น 8 ช่องจราจร และโครงการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำโขงนาคาวิถี ช่วงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (แห่งที่ 2)-พระธาตุพนม อยู่ระหว่างขอรับงบประมาณปี 2568
ทั้งนี้ยังมีโครงการในอนาคตอีกหลายโครงการ เช่น การขยายทางหลวงเป็น 4 ช่องจราจร ทล.222 ตอน อำเภอวานรนิวาส-อำเภอคำตากล้า, ทล.22 ตอน อำเภอนาแก่-บ้านต้อง ,ทล.212 บึงโขงหลง-อำเภอบ้านแพ รวมถึงโครงการถนนเลียบแม่น้ำโขงนาคาวิถี เฟส 2 และโครงการก่อสร้างถนนสาย นพ.2010 รวมถึงการพัฒนาขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานภูมิภาคเพื่อรองรับการเติบโตด้านการขนส่งทางอากาศในพื้นที่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการผลักดันโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมลงสู่พื้นที่จังหวัดสกลนคร นครพนม มุกดาหาร และบึงกาฬ จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชนในการเข้าถึงการคมนาคมที่สะดวก ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะช่วยเชื่อมโยงการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เพิ่มโอกาสการเติบโตและพัฒนาทางเศรษฐกิจและการพาณิชย์ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และส่งเสริมการค้า การจ้างงาน การลงทุนและการท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังจะเอื้ออำนวยต่อการที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงอนุภูมิภาค แม่น้ำโขงและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ากับจีนและเอเชียใต้ต่อไปด้วย
Back to top
You cannot post new topics in this forum You cannot reply to topics in this forum You cannot edit your posts in this forum You cannot delete your posts in this forum You cannot vote in polls in this forum
Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group