View previous topic :: View next topic |
Author |
Message |
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 20/12/2006 11:33 am Post subject: ขุดจากกรุ : ภาพเก่าเล่าเรื่อง |
|
|
สวัสดีครับ....
วันนี้ขออนุญาตขุดกรุภาพออกมาหากินอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งบางส่วนเคยนำเสนอคราวเวปไซด์ version เดิม ก่อนปิดปรับปรุงใหม่ หลายๆ ท่านอาจเคยเห็นแล้ว แต่บางรายเพิ่งเข้ามาใหม่ ก็ถือว่า แบ่งๆ กันดูย้อนความหลังก็แล้วกันครับ
เห็นคุณหมอ (ขอใช้สิทธิ์พาดพิงสักนิดครับ) พูดในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพฯ ธุรกิจ ฉบับวันเสาร์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ ที่ใครๆ อยากไปเที่ยวสักครั้งหนึ่งในชีวิต แน่ละครับ รวมถึงตัวผมด้วย โดยซื้อตั๋วโดยสารรถไฟนำเที่ยวสายน้ำตก เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2522 ด้วยสนนราคาตั๋ว 60 บาท เด็กคิดเพียง 33 บาท เท่านั้น
อ่านะ...แล้วกระหืดกระหอบรอขึ้นขบวนรถดีเซลราง RHN ยุคไม่เปลี่ยนสีโบกี้เป็นแบบปัจจุบัน ออกเดินทางจากสถานีกรุงเทพ เมื่อเวลา 06.15 น.
ตอนนั้น ยังไม่รวมเป็นขบวนเดียวกับรถนำเที่ยวชายทะเลหัวหินนะครับ ขบวนนั้น ออกเวลา 06.35 น.
หลังจากอิ่มท้องด้วยข้าวหมูแดงที่นครปฐม เก็บนักท่องเที่ยวตกหล่น ที่ตามมากับขบวนรถหัวหินแล้ว ก็ชึ่กชั่กผ่านชุมทางหนองปลาดุก เข้าเส้นทางรถไฟสายน้ำตกล่ะครับ เสียงล้อกระทบรางฟังชัดถนัดหู ย้อนยุคดีแท้ๆ
แวะปล่อยนักท่องเที่ยวลงเยี่ยมสะพานข้ามแม่น้ำแควราวครึ่งชั่วโมง แล้วเคลื่อนขบวนต่อไป ปล่อยให้นักท่องเที่ยวรับบรรยากาศสองข้างทางรถไฟสายมรณะ แล่นตียาวตลอดทาง เสียงสาวชาวกรุงชวนเพื่อนดูดอกไม้ประหลาดในไร่ริมทาง สีขาวนวล ดังอยู่ที่ม้านั่งแถวหลัง
เหลียวมองไปดู ดอกฝ้าย นั่นเอง
จนกระทั่งถึงจุด Hilight บนเส้นทางนี้ ยามสายแก่ๆ ที่สะพานไม้เลียบแม่น้ำแควน้อย ที่ถ้ำกระแซ
สะพานไม้แห่งนี้ เชลยศึกชาวฝรั่งที่ก่อสร้างทางรถไฟ เรียกว่า สะพาน Arrow hill ตามลักษณะลำน้ำแควน้อยตอนนั้น ที่โค้งแทบเป็นหัวลูกศร และผู้คุมชาวญี่ปุ่น เรียกทับชื่อฝรั่งตามภาษาเขาว่า Aru hiru แล้วคนไทยแปลงต่ออีกหนหนึ่งว่า สะพานไอ้หิต ( สะพานแห่งนี้ สร้างเสร็จภายใน 2 เดือนเท่านั้น )
ลิ้นใคร สำเนียงมัน ก็ว่ากันไป
..
ฝั่งแม่น้ำแควน้อย หรือ แควไทรโยค สมัยนั้น ยังเงียบเหงา มีแพชาวบ้านที่หาปลาบริเวณริมสะพาน อยู่ไม่กี่แพ
ตอนนี้น่ะหรือ ? กลายเป็นพื้นที่ทองคำ สร้างรีสอร์ทสำหรับนักท่องเที่ยวไปหมดแล้ว 8)
เสียงไม้สะพานลั่นออดแอด ๆ ประกอบกับขบวนรถแล่นผ่านไปช้าๆ เป็นโอกาสเหมาะสำหรับผมที่โชคดี นั่งอยู่ด้านซ้ายมือ เก็บภาพสีชุดแรกในชีวิต ( ฟิล์มกลัก ) ของ โกดัก อย่างที่เห็น...
ทางไปน้ำตกเขาพัง ( ไทรโยคน้อย ) ยังไม่มีรางรถไฟวางไปถึงเหมือนทุกวันนี้ นักท่องเที่ยวต้องเดินไปเอง ร้านอาหารก็เดินไปทานที่ร้านริมถนนสาย กาญจนบุรี ทองผาภูมิ ที่ผ่านใกล้ๆ สถานี น้ำตก ไม่มีบริการอาหารและเครื่องดื่มใดๆ บนขบวนรถครับ
ขากลับ ออกจากสุสานสหประชาชาติดอนรัก มองดู พขร.สับห่วงทางสะดวก เพลินดีครับ เสียดายที่เวปไซด์เราเกิดทีหลังยี่สิบปีเศษ เลยไม่มีคำแนะนำด้านมุมมองถ่ายภาพ สามารถเก็บภาพได้ทุกสถานีเชียวล่ะ
ขบวนรถท่องเที่ยว ผมใช้บริการไปสายน้ำตก สายหัวหิน สายนี้ มีรถสองแถวรับนักท่องเที่ยวไปเที่ยวที่สวนสนประดิพัทธิ์ แวะโรงงานทอผ้าโขมพัตร์ ก่อนมาปล่อยให้เดินเลียบชายทะเลหัวหิน แล้วขึ้นรถกลับ
แถมด้วยสายมวกเหล็ก เป็น บชส.สองโบกี้ พ่วงไปกับ ข.31 กรุงเทพ อุบลราชธานี เที่ยวน้ำตกมวกเหล็ก แล้วพ่วงกลับด้วย ข.32 อุบลราชธานี - กรุงเทพ ข้ามไปมาระหว่างจังหวัดสระบุรี กับ นครราชสีมา จนเอือม แถมยังมีเวลาเดินมาซื้อนมสดที่ฟาร์มโคนม ไทย - เดนมาร์ค ริมถนนมิตรภาพ ตรงปากทางเข้า อ.มวกเหล็ก ไกลร่วม 3 กม.แน่ะ
หากเป็นสมัยนี้ คงคิดหนักก่อนเดินข้ามถนนมิตรภาพล่ะครับ รถราวิ่งขวักไขว่มากมายเหลือเกิน...
พูดไป เดี๋ยวเรื่องยาว.... ขอยุติภาพชุดแรกของกรุ ไว้แค่นี้ก่อน
Last edited by black_express on 22/08/2011 10:09 pm; edited 2 times in total |
|
Back to top |
|
|
black_express
1st Class Pass (Air)
Joined: 24/03/2006 Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ
|
Posted: 08/01/2007 1:12 pm Post subject: |
|
|
หายไปนาน มาต่อกันด้วยชุดที่สองครับ
ราวปี พ.ศ.2532 ผมได้มีโอกาสมาอบรมวิชาการถ่ายรูป - ล้างฟิล์ม ที่ ม.ธรรมศาสตร์ พอหยุดพักช่วงระหว่างสัปดาห์ ก็เดินหิ้วกล้องตะลอนๆ ไปที่สะพานอรุณอัมรินทร์ โดยมีจุดหมายที่สถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) นั่นแหละ ซึ่งคาใจตั้งแต่เดินย่ำเท้าข้ามสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จหมาดๆ ยังไม่ได้ตีเส้นแบ่งจราจร แต่เปิดให้เดินข้ามสะพานได้ เมื่อปี พ.ศ.2515 สินะ
ก็ไม่ผิดหวังครับ นอกจากย่านสถานีแล้ว ยังมีขาใหญ่ประจำย่าน Hitachi หมายเลข 669 สับเปลี่ยนตู้สินค้า จาก ทรส.ธนบุรี เข้าประกอบฉากด้วย
สถานีธนบุรี ได้ก่อสร้างอาคารสถานีขึ้นที่ปากคลองบางกอกน้อย พร้อมกับการก่อสร้างเส้นทางรถไฟหลวงสายใต้ ช่วง กรุงเทพฯ เพชรบุรี เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2442 โดยย้ายชุมชนมุสลิมที่อาศัยอยู่เดิม ออกไปอยู่บริเวณใกล้เคียง จนแล้วเสร็จ และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิดเป็นทางการพร้อมกับเส้นทางสายใต้ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2446
นอกจากจะเป็นสถานีรถไฟต้นทางไปสู่แหลมมลายู และสิงคโปร์แล้ว ยังเป็นต้นทางของขบวนรถไฟพระที่นั่งเสด็จไปยังหัวหิน และพระราชวังสนามจันทร์ ในรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 อยู่เนืองๆ จนกระทั่งสะพานพระรามหกก่อสร้างเสร็จ ขบวนรถไฟพระที่นั่งจึงได้ย้ายไปออกที่สถานีรถไฟหลวงจิตรลดา
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2485 อาคารสถานีธนบุรีและย่านสถานี ถูกฝูงบินกองทัพสัมพันธมิตร ซึ่งมีฐานบินที่กัลกัตตา อินเดีย ทิ้งระเบิดทำลายเกือบ ทั้งหมด หลังจากเสร็จสิ้นสงคราม จึงได้บูรณะซ่อมสร้างขึ้นมาใหม่ ในรูปแบบปัจจุบัน จนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2493
ต่อมา อาคารสถานีรถไฟและบริเวณพื้นที่สถานีธนบุรีได้รับการซ่อมแซมปรับปรุงเชิงอนุรักษ์รูปแบบของอาคารไว้คงเดิม เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาทางประวัติศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ (5 ธันวาคม 2542) โดยใช้งบประมาณ 1,446,.88 ล้านบาท โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
แล้วในที่สุด การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มอบโอนอาคารสถานีธนบุรีและพื้นที่ย่านสถานีบางส่วน ให้แก่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อสร้างศูนย์การแพทย์ สวนสุขภาพ และอาคารประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2547 ตามมติคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้ การรถไฟฯ ได้ก่อสร้างอาคารสถานีธนบุรี (ใหม่) บริเวณที่หยุดรถ บางกอกน้อย (เดิม) ห่างจากที่เดิมประมาณ 870 เมตร ดังที่เราเห็นในปัจจุบันครับ
จากภาพชุดเดิมที่ถ่ายมานั้น กลายเป็นย่านสถานีธนบุรี (ใหม่) และบริเวณตลาดไปหมดแล้วครับ แทบไม่น่าเชื่อว่า จะมีบริเวณกว้างขวางขนาดนั้น
ถ้าไม่พูดถึงรถจักรดีเซลไฟฟ้า Hitachi รุ่น 600 แล้ว (ผมเรียกตามหมายเลขเอาเองครับ) คงขาดอะไรไปสักอย่างแน่ๆ
รถจักรดีเซลไฟฟ้า Hitachi รุ่นดังกล่าว การรถไฟฯ ได้สั่งซื้อเข้ามาใช้งาน 3 รุ่น ได้แก่
รุ่นหมายเลข 611 - 615 เมื่อปี พ.ศ.2501 จำนวน 5 คัน
รุ่นหมายเลข 616 - 630 จำนวน 25 คัน
และหมายเลข 661 - 670 จำนวน 10 คัน เมื่อปี พ.ศ.2504 - 2505
รวมทั้งสิ้น 40 คัน
รถจักรดีเซลไฟฟ้า Hitachi รุ่น 600 นี้ มีการจัดวางล้อแบบ Co - Co ใช้เครื่องยนต์เดี่ยว ยี่ห้อ M.A.N. รุ่น W8V22 /30 mA.u.L มี 8 สูบ (220 x 300) กำลัง 950 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 70 กม./ชม. มีความจุน้ำมันเชื้อเพลิง 3,300 ลิตร จุน้ำมันเครื่อง 230 ลิตร และมีน้ำหนักรถจักร เมื่อเติมน้ำมันเต็มที่ 72,000 กก.
รถจักรดีเซลไฟฟ้า Hitachi ถูกใช้เป็นม้างานทั้งขบวนรถโดยสาร รถสินค้าอยู่นานหลายปี พอๆ กับ Davenport เสียงแตรไพเราะนุ่มหูมากครับ คล้ายกับ Toshiba ของ KTM ผมเคยนั่งรถด่วนเชียงใหม่ ทำขบวนโดย Hitachi เหมือนกันนะครับ จนกระทั่ง Hitachi มาพ่ายต่อ GEK ที่สั่งซื้อมาใช้งานและมีแรงม้าสูงกว่า เมื่อปี พ.ศ.2507 รถจักรญี่ปุ่น จึงค่อยๆ หายไปจากวงการรถไฟไทย เหลือแค่รถดีเซลรางเท่านั้น จนกระทั่ง การรถไฟฯ สั่งซื้อ HID เข้ามาใช้งานอีกครั้งหนึ่ง เป็นม้างานหลักคู่กับ GEA ในปัจจุบัน
สำหรับหมายเลข 669 คันนี้ ได้ปลดประจำการ และนำมาจอดทิ้งตรงรางตัน บริเวณ ทรส.บางซื่อ ตรงจุดกลับรถประจำทางนั่นแหละครับ แถมต้นทางรางตันที่ว่า ถูกรื้อออก โดยไม่ต่อเชื่อมกับเส้นทางรถไฟใดๆ อีก จะเรียกว่า ถูกจองจำตอนแก่ คงได้กระมัง ?
เมื่อพูดถึงรถจักร คงอดไม่ได้ที่พาดพิงถึงโรงรถจักรธนบุรี ด้วยกระมัง ?
สำหรับโรงรถจักรธนบุรี ตอนนั้น เป็นแหล่งชุมนุมของรถจักรดีเซลไฮดรอลิกส์เกือบทั้งหมดของ รฟท. ซึ่งย้ายมาประจำการบนเส้นทางสายใต้ มี Henschel สีเขียว (แต่หน้าเหลือง) และตระกูลเดียวกันในรุ่น HAS สับเปลี่ยน , KRUPP คันสวยสะดุดตาของใครต่อใครหลายคนในนี้ รวมทั้ง รถดีเซลราง RHN สายน้ำตก และหัวรถจักรไอน้ำอนุรักษ์ C - 56 , 9xx (มิกาโด) และ 8xx (แปซิฟิก) ที่โรงรถจักรธนบุรี รับผิดชอบดูแลด้วย
ใครจะไปรู้อนาคตล่ะครับว่า ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงรถจักรธนบุรีแห่งนี้จริงๆ อีก 15 ปีต่อมา เหมือนๆ กับไม่เคยคิดว่า จะมีเวปไซด์ Rotfaithai.Com เกิดขึ้นมาจริงๆ ในเมืองไทย
ตอนนี้ หากใครจะไปเที่ยวโรงรถจักรธนบุรี สามารถไปดูได้ ซึ่งทาง กทม.ได้แนะนำว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวดูรถจักรไอน้ำประวัติศาสตร์ด้วยครับ แต่ภายในโรงรถจักร ยังเป็นเขตหวงห้ามสำหรับบุคคลภายนอก การเข้าชมภายใน ต้องได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทยก่อน
ขอจบชุดสถานีธนบุรี (เดิม) ไว้แค่นี้....
Last edited by black_express on 24/08/2011 8:50 am; edited 2 times in total |
|
Back to top |
|
|
pitch
2nd Class Pass
Joined: 14/07/2006 Posts: 694
Location: วังนารายณ์คู่บ้าน ศาลพระกาฬคู่เมือง ปรางค์สามยอดลือเรื่อง เมืองแห่งดินสอพอง แผ่นดินทองสมด็จพระนารายณ
|
Posted: 08/01/2007 4:35 pm Post subject: |
|
|
ผมชอบเจ้าHenschel สีเขียวครับ อยากเห็นรูปตอนที่ยังทาหน้าสีเขียวขี้ม้าเข้มสมเป็นรถจักรรุ่นรัฐบาลทหาร |
|
Back to top |
|
|
DIESELGTR
3rd Class Pass
Joined: 21/10/2006 Posts: 177
|
Posted: 08/01/2007 6:04 pm Post subject: |
|
|
น่าอิจฉาจังเลยนะครับที่ใด้เห็น ฮิตาชิ ทำการ ตัวผมเคยเห็นแค่หลังคามันเองครับ หรือไม่ก็แค่แว๊บที่นอนนิ่งสงบอยู่อ่ะครับ ที่เคยเห็นรถจักรดีเซลเก่าสุดทำการก็ ดาเวนพอร์ท 500hp x 2 อ่ะครับในตอนเด็กๆ เห็นกำลังทำการสับเปลี่ยนในย่านบางซื่ออ่ะครับ ประทับใจมาก เพราะโอกาสจะใด้เห็นรถจักรแบบนี้ มันหาดูใด้ยากครับ สำหรับผม..... |
|
Back to top |
|
|
CivilSpice
1st Class Pass (Air)
Joined: 18/03/2006 Posts: 11192
Location: หนองวัวหนุ่มสเตชั่น
|
Posted: 08/01/2007 6:18 pm Post subject: |
|
|
สมัยมาเรียน ปวช. ที่พระนครเหนือ ใหม่ๆ ก็ยังทันเห็นสถานีธนบุรีในรูปแบบเดิมๆ อยู่ ส่วนรถฮิตาชิ ไม่ค่อยแน่ใจ เหมือนจะคลับคล้ายคลับคลา เพราะเป็นช่วงปี 34-35 ที่ไปแถวๆ นั้น เพราะบ้านเพื่อนผมอยู่แถวๆ บ้านช่างหล่อ เวลามาจากเมืองนนท์ ก็จะนั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาลงที่ท่ารถไฟ แล้วก็เดินลัดเลาะตามรางรถไฟ จากสถานีธนบุรี จนมาถึงโกดังสินค้า แล้วเดินเข้าซอย ระยะทางไกลพอดู แต่ก็สนุกดีครับ ช่วงนั้นน่าจะยังทัน Henschel อยู่ด้วย แต่เป็นหน้าเหลืองไปแล้ว
สถานีธนบุรีเดิม ผมเคยใช้บริการไม่กี่ครั้ง แต่ก็ประทับใจมากๆ โดยเฉพาะที่ยกโขยงไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่ อ.ปะทิว จ.ชุมพร แห่กันไปเกือบ 10 คน ก็ได้อาศัยรถ ธนบุรี-หลังสวน รอบค่ำนี่แหล่ะครับ ที่พาไป ไปถึงปะทิวก็ตี 4 กว่าแล้ว ส่วนขากลับออกจากปะทิวช่วงดึก มาถึงธนบุรี เลตกว่าปกตินิดหน่อย
ว่าแล้วก็น่าเสียดายสถานีเดิมนะครับ |
|
Back to top |
|
|
alderwood
1st Class Pass (Air)
Joined: 10/04/2006 Posts: 6593
Location: กรุงเทพ-ราชสีมา
|
Posted: 08/01/2007 11:19 pm Post subject: |
|
|
อ่านของพี่ตึ๋งแล้วคิดถึงสถานีธนบุรีเดิมจัง ทันได้เห็นตอนที่ยังให้บริการอยู่ แต่ไม่มีกล้อง เสียดายจัง
ส่วนรูปนี้เป็น 669 ที่ถ่ายไว้เมื่อปี 2547 ถ่ายจากบริเวณลานจอดรถทัวร์เอกชนใต้ทางด่วนขั้นที่ 2 ใกล้หมอชิตใหม่
|
|
Back to top |
|
|
shinoda
3rd Class Pass (Air)
Joined: 16/10/2006 Posts: 309
Location: พิจิตร
|
Posted: 08/01/2007 11:56 pm Post subject: |
|
|
ภาพสวยครับ คุณ black_express ...ภาพเหล่านี้เป็นภาพในประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าครับ ตะแกรงหน้าของ Hitachi รุ่นนี้ดูใหญ่แล้วก็เป็นซี่ๆดีนะครับ ผมดูด้านหน้าทีไร ก็พาลนึกถึงหัวกระโหลกคนทุกที
ปัจจุบันสถานที่ในรูปเหล่านี้คงเป็นชุมชน บ้านเรือน ร้านค้าไปเกือบหมดแล้วมั้งนี่ _________________
|
|
Back to top |
|
|
Gunnersaurus
1st Class Pass (Air)
Joined: 29/03/2006 Posts: 1574
Location: เมืองช้าง
|
Posted: 09/01/2007 6:30 am Post subject: |
|
|
เห็นแล้วนึกถึงสมัยที่สถานีธนบุรีเดิมยังอยู่ในยุครุ่งเรือง ยังคิดว่าทำไมสมัยเรียนที่ มธ. ตอนนั้นไม่ถ่ายภาพเอาไว้ ทั้งๆ ที่เดินเข้าออกแถวนั้นเป็นว่าเล่น
แต่ก็ยังโชคดีที่เคยได้โดยสารรถไฟออกจากธนบุรีบ้าง ไม่อย่างนั้นเสียดายแย่เลย ขอบคุณพี่ตึ๋งที่ขุดกรุภาพเก่าๆ มาแบ่งกันชมครับ |
|
Back to top |
|
|
anusorn
1st Class Pass (Air)
Joined: 04/09/2006 Posts: 1642
Location: มณฑลอาคเนย์
|
Posted: 09/01/2007 11:24 am Post subject: |
|
|
Quote: | ตะแกรงหน้าของ Hitachi รุ่นนี้ดูใหญ่แล้วก็เป็นซี่ๆดีนะครับ ผมดูด้านหน้าทีไร ก็พาลนึกถึงหัวกระโหลกคนทุกที
|
เป็นไปได้หรือไม่ว่ารถจักรดีเซลยุคนั้นมีแนวคิดในการออกแบบให้รูปทรงด้านหน้าใกล้เคียงกับหัวกะโหลกเพื่อที่ใครเห็นจะไม่กล้าเข้าไปใกล้โดยเฉพาะบรรดาเด็กๆ สมัยเด็กมากๆผมยังกลัว GEK เลย ยิ่งตอนมีเสียงคำรามออกมายิ่งแล้วใหญ่ ถ้าหัวรถจักรดูเท่ห์สวยงามอาจดึงดูดคนมาดูใกล้ๆทำให้เกิดอันตรายได้ สมัยก่อนๆความเจริญยังไม่เท่าเดี๋ยวนี้ซึ่งเดี๋ยวนี้คนกลัวผียากขึ้น (คิดไปถึงไหนแล้วเนี่ย)
แต่เท่าที่เห็นหน้าตาค่อนข้างน่ากลัวก็มี Davenport GEK แล้วก็ Hitachi 6xx นี่ล่ะครับ
Grupp ก็รองมาหน่อย ขนาดตะแกรงทึบก็ยังไม่วายมีซี่ให้ดูเหมือนฟันอีก |
|
Back to top |
|
|
nOo-Neung
1st Class Pass (Air)
Joined: 27/03/2006 Posts: 1013
Location: ARL ลาดกระบัง
|
Posted: 09/01/2007 2:09 pm Post subject: |
|
|
ผมก็ได้ไปด้อมๆมองๆ สถานีธนบุรีประมาณ ปี 34 เช่นกันกับพี่บอมบ์ครับ
(ช่วงนั้นมาผ่าตัดหูที่ศิริราช) ตื่นเต้นสุดๆครับ เวลาข้ามสะพานอรุณอัมรินทร์
ต้องเลือกเอาว่าจะมองฝั่ง โรงรถจักรหรือฝั่งสถานีดี |
|
Back to top |
|
|
|