Ads Service

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311304
ทั่วไป:13278430
ทั้งหมด:13589734
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - ภาพจากอดีต : เทศกาลของชาวพิงค์
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

ภาพจากอดีต : เทศกาลของชาวพิงค์

 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> พักผ่อนหย่อนใจ
View previous topic :: View next topic  
Author Message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 10/01/2009 10:13 pm    Post subject: ภาพจากอดีต : เทศกาลของชาวพิงค์ Reply with quote

สวัสดีปีใหม่ 2552 นะครับ...

ช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่นี้ จะหยุดกันยาวนับสัปดาห์ หลายๆ ท่านคงออกไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ นอกเหนือไปจากที่ไปเยี่ยมญาติมิตรที่ต่างจังหวัด เท่าที่สังเกตตามสื่อมวลชน และเวปไซต์ท่องเที่ยวต่างๆ แล้ว มักจะมุ่งหน้าไปสูดอากาศหนาวตามป่าเขาทางภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ หรือเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า " นครพิงค์ "

สำหรับนักท่องเที่ยวผู้มาจากต่างถิ่นแล้ว ตั้งแต่สมัยก่อนมาจนถึงปัจจุบัน เชียงใหม่ยังเป็นเมืองที่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวไม่เสื่อมคลาย นับตั้งแต่องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อสท.) ในขณะนั้นได้เริ่มส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวในต่างจังหวัดโดยเลือกจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีความพร้อมด้านต่างๆ ทั้งแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ อากาศที่เย็นสบาย เป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคม นิสัยใจคอผู้คน และที่สำคัญคือขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยังคงอนุรักษ์เป็นอย่างดี เป็นจังหวัดแรก ทำให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวของภาคเหนือที่รู้จักกันไปทั่วโลก

ภาพจากอดีตในครั้งนี้ ผมขอนำเรื่องราวเกี่ยวกันขนบธรรมเนียมประเพณีทางภาคเหนือ โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ โดยนำลงเผยแพร่ในนิตยสารพิเศษรายเดือน “ คนเมือง “ ปีที่ 2 ฉบับ 6 ประจำเดือน ธันวาคม 2498 โดยรักษาลักษณะการเขียนและสำนวนตามที่ปรากฎอยู่ในขณะนั้นโดยไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงครับ

.....................

เทศกาลของชาวพิงค์

ภาพโดย นิคม กิตติกุล

พากษ์โดย “ศิริชัย “


ทุกท้องถิ่นไม่ว่าที่ไหน ก็ย่อมจะมี “ เทศกาล “ ของตัวเอง ผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง สุดแท้แต่ขนบธรรมเนียมประเพณีนิยมของท้องถิ่นนั้นๆ เวียงพิงค์ก็เช่นเดียวกับท้องถิ่นอื่นทั่วไป ที่มี “ เทศกาล “ ประจำของตนเป็นงานใหญ่ประจำปี ซึ่งแสดงออกมาถึงวัฒนธรรมทางจิตใจและระเบียบประเพณีของท้องถิ่นที่ได้ถือประพฤติปฏิบัติสืบเนื่องกันมาช้านานจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

นครเชียงใหม่ได้มีประวัติความเป็นมาดีเด่นมาแต่โบราณกาลทั้งในด้านวัฒนธรรม, ศาสนา, และความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับนับถือกันอยู่แล้ว และเพราะเหตุที่เคยเป็นศูนย์กลางแห่งการปกครองและวัฒนธรรมของลานนาไทยนี้เอง เวียงพิงค์จึงได้ชื่อว่า เป็นกลางแห่งการแสดงออกซึ่งประเพณีนิยมของคนทั่วภาคเหนือไปด้วย ทั้งในอดีตและปัจจุบันซึ่งอาจรวมอนาคตด้วย

เทศกาลของชาวเวียงพิงค์ในทุกวันนี้ ก็ได้แสดงให้เห็นร่องรอยของวัฒนธรรมที่สืบเนื่องติดต่อกันมาแต่ก่อน อันยืนยันว่า หมู่คนเมืองมิได้หันหลังให้กับกำพืดเดิมของตน

พระบวรพุทธศาสนา อันเป็นหลักชัยประจำชาติทุกวันนี้ ได้เคยหยั่งรากลงลึกและได้เคยรุ่งเรืองอย่างถึงขนาดมาแล้ว เวียงพิงค์ เคยได้เป็นสถานที่กระทำฉัฎฐสังคายนาในรัชชสมัยติโลกราช (ราว ๕๐๐ ปีเศษมาแล้ว) ด้วยประการฉะนี้เอง, ชาวเวียงพิงค์จึงยึดมั่นในหลักพระพุทธศาสนาตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน

เวียงพิงค์มีวัดวาอารามอยู่ทั่วทุกแห่งหน แต่ละแห่งก็ได้มีประวัติอันดีงามในการที่อบรมบ่มสอนพุทธมามกชน ให้มีศรัทธาปสาทะในพระบวรพุทธศาสนา ดังนั้น, ทุกเช้าเราจึงเห็นชาวพิงค์ออกมารอคอยตักบาตรแก่เหล่าภิกษุสงฆ์ ที่ภิกขาจารไปตามท้องถนนทุกสาย

ยิ่งถ้าเป็นระยะเวลาระหว่างเข้าพรรษามีภิกษุสงฆ์มากด้วยแล้ว ชาวพิงค์ก็ถือกันเคร่งครัดว่าต้องเกื้อกูลพุทธบุตรมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสืบต่อพระศาสนาให้ยั่งยืนตลอดไป นอกจากจะตักบาตรในตอนเช้าเป็นกิจวัตรประจำวันแล้ว เมื่อถึงวันธรรมสวนะ วัดวาอารามทุกแห่งจะแน่นขนัดไปด้วยเหล่าชาวพุทธทั้งชายหญิง, คนหนุ่มสาวและเด็ก ทุกคนพากันไปวัดทำบุญสุนทานและฟังธรรมเพื่อกล่อมเกลาจิตใจของตนให้เกิดศรัทธาปสาทะจำหลักหนักแน่นยิ่งขึ้น

เทศกาลปีใหม่ (หรือสงกรานต์) ของหมู่คนเมืองอีกอย่างหนึ่ง ที่จัดเป็นงานใหญ่มาก เป็นงานที่ทุกคนสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจกันเต็มที่ นอกจากจะมีพิธีการทางศาสนาแล้ว ในเทศกาลปีใหม่หมู่คนเมืองยังมีประเพณีรดน้ำดำหัวสมัครษมาผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เป็นประเพณีที่แสดงถึงการรู้จักเคารพผู้ที่ควรเคารพ การรู้จักให้อภัย อันเป็นจิตใจของอารยชนโดยแท้จริง

“ สงครามน้ำ “ ยามสงกรานต์ของเวียงพิงค์ สนุกสนานครึกครื้นเพียงใดนั้น เห็นจะไม่จำเป็นต้องนำมากล่าว เพราะย่อมเป็นสิ่งประทับใจผู้เคยมาอยู่แล้วทุกคน และก่อนหน้าที่จะถึง “ สงกรานต์ “ โรงแรมทุกแห่งในเวียงพิงค์ก็ถูก “ จอง “ ไว้หมด ย่อมจะเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันว่า สงกรานต์เวียงพิงค์เป็นแม่เหล็กดึงดูดจิตใจอยู่เพียงใด !

ตลอดวโรรส แม้จะเป็นตลาดสดที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภาคตะวันออกไกลของซีกโลกภาคนี้ ใหญ่กว่าตลาดสดทุกแห่งบรรดามี ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว มลายู พม่า แม้กระนั้น ก่อนจะถึงวันที่มี “ งานเทศกาล “ อาทิ เทศกาลสงกรานต์ (ปีใหม่ของหมู่คนเมือง) ตลาดใหญ่ขนาดนี้ก็ “ คับแคบ “ ลงไปถนัดใจ คับคั่งด้วยผู้ซื้อทุกเพศวัย จนพ่อค้าแม่ค้าต้องวางของขายล้นออกมาริมบาทวิถี ราวกับ “ หาบเร่ “ กรุงเทพฯ เวลานี้

การที่เป็นดังนั้น ก็เนื่องมาจากเหตุที่ว่า ชาวพิงค์ไม่ยอมหันหลังให้ขนบทำเนียมประเพณีดั้งเดิมของตน ทุกบ้านเรือนต้องหาซื้อสิ่งของไปเพื่องานเทศกาลนั้น เมื่อมีผู้ต้องการซื้อมาก ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้ขายก็ทวีจำนวนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เพื่อสนองความต้องการให้สมดุลย์กัน

งานศพ อีกอย่างหนึ่งที่คนเมืองเหนือ ได้ถือเป็นประเพณีมานานช้าแล้ว ว่าเป็นงานที่ทุกคนต้องร่วมมือช่วยเหลือกันอย่างเต็มความสามารถ พอรู้ว่ามีใครถึงแก่กรรม ชาวบ้านก็จะบอกกล่าวกันต่อๆ ไปโดยเจ้าภาพไม่จำเป็นต้องออก “ บัตรเชิญ “ แล้วจากกนั้นทุกครอบครัวก็จะมา “ ฮอม “ ช่วยเหลืองานศพนั้นตามกำลังฐานะและอัตตภาพ

ยิ่งเป็นงานศพพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีลด้วยแล้ว ก็จัดว่าเป็น “ งานใหญ่ “ มากทีเดียว เพราะเวียงพิงค์เป็นเมืองพุทธ

การแสดงออกซึ่งจิตใจเห็นปานนี้ นับว่าเป็นวัฒนธรรมของไทยแท้อย่างหนึ่ง ซึ่งขณะนี้กำลังจะสูญหายไปทุกทีแล้ว

ประเพณีนิยม ที่ได้รับความสนใจจากอาคันตุกะผู้มาจากท้องถิ่นอื่น และแม้แต่ชาวต่างประเทศอีกอย่างหนึ่งก็คือ “ การฟ้อนรำถวายเป็นพุทธบูชา “ ซึ่งมีทุกคราวไม่ว่าจะเป็นกฐิน หรือผ้าป่า ทุกๆ วัดส่วนมากจะมี “ นางรำ “ ประจำวัดของตน ศิลปการฟ้อนและร่ายรำอันอ่อนช้อยงดงามนี้ ได้รับการถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว

พอพ้นพรรษาปวารณา จึงเป็นเทศกาลที่ผู้มาเยือนเวียงพิงค์จะได้พบเห็นการร่ายรำเป็นพุทธบูชาดังกล่าวแทบไม่เว้นวัน และก็ไม่เคยมีใครจะเว้นการสนใจเสียได้

หลักเมือง ซึ่งถือว่าเป็น “ หลักชัย “ ของบ้านเมืองที่สร้างมาแต่โบราณกาลนั้น ที่เวียงพิงค์มิได้เรียกว่า “ หลักเมือง “ หากเรียกว่า “ อินทะขิล “ ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่าก่อนที่พ่อขุนเมงรายจะบูรณะเวียงพิงค์ขึ้นก็ได้พบ “ อินทะขิล “ นี้ และเห็นว่าเป็นชัยภูมิแห่งนี้เคยเป็นเมืองใหญ่มาแต่ก่อน จึงได้เร่งรัดจัดสร้าง “ เวียง “ ใหม่ขึ้น

การ “ เข้าอินทะขิล “ ซึ่งเป็นประเพณีประจำปีนั้น มีการถวายดอกไม้ธูปเทียน โดยมากผู้หญิงเป็นผู้ “ ตักบาตร “ ดอกไม้มากกว่าผู้ชาย เทศกาลเข้าอินทะขิลนี้ต้องจัดให้มีทุกปีขาดไม่ได้ เชื่อกันว่าจะได้อยู่เย็นเป็นสุข บ้านเมืองจะสงบเรียบร้อย

งานใหญ่ อีกงานหนึ่งของเวียงพิงค์ก็คือ งานลอยกะทง เพราะทุกปีมีการแห่แหน “ กะทงขนาดใหญ่ “ ไปตามถนนหลายสาย กะทงที่จัดขึ้นนั้นใหญ่โตขนาดสามารถจัดเป็นเรื่องราวมีผู้คนไปแสดงได้หลายคน ต้องบันทุกรถยนต์แล่นวนเวียนไปท่ามกลางกลุ่มคนที่แออัดยัดเยียด จนกระทั่งถนนไม่ว่างพอจะเดินไม่ “ ชน “ กัน !

งานลอยกะทงของเวียงพิงค์ จะเริ่มตั้งแต่ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ( เดือนยี่เหนือ ) และไปสิ้นสุดเอาวันแรม ๑ ค่ำ มีคนเที่ยวเตร่โต้รุ่งกันทั้งสองคืนไม่มีใครถอย !

พอเริ่มหนาว ชาวเวียงพิงค์ก็พูดถึง และรอคอยงานยิ่งใหญ่อีกงานหนึ่งซึ่งเป็นทั้ง “ งาน “ ท้ายปี-และเริ่มปี นั่นคือ.. งานรื่นเริงฤดูหนาวและต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ ๓๑ ธันวาคม และได้สิ้นสุดเอาในวันที่ ๖ มกราคม ทุกๆ ปี

ความยิ่งใหญ่ของงานนี้ ประกอบด้วยงานออกร้าน การกีฬา การมหรสพ การแสดงเพื่อความรอบรู้ และเหนืออื่นใดการกระกวดนางสาวเชียงใหม่ และการประกวดนางสาวถิ่นไทยงาม ซึ่งประมวลเอาโฉมงามจากทุกถิ่นลานนาไทยมาเพื่อประชันโฉมกัน ว่าใครจะครองความเป็นเลิศ

งานใหญ่ในรอบปีของเวียงพิงค์ ทั้งในด้านวัฒนธรรมพื้นบ้าน และด้านที่น่าสนใจในความบรรเจิดของงาน ก็มีเพียงเท่าที่เราได้นำเสนอต่อมิตรผู้อ่านใน “ สารคดีภาพ “ ประจำฉบับนี้ ดังต่อไปนี้...


Last edited by black_express on 11/01/2009 12:53 am; edited 1 time in total
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 10/01/2009 10:33 pm    Post subject: Reply with quote

Click on the image for full size

ชีวิตของชาวเวียงพิงค์ได้เริ่มต้นตั้งแต่อรุณรุ่ง เมื่อเหล่าพระภิกษุสงฆ์พุทธบุตรออกจากอาราม เที่ยวบิณฑบาตรไปตามท้องถนนสายต่างๆ ผ้ากาสาวพัตรเหลืองอร่ามสะพรึบไปหมด เพราะเชียงใหม่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีวัดวาอารามมากไม่เป็นรองกรุงเทพฯ และนอกจากนั้นชาวเชียงใหม่ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นพุทธศาสนิกชนไม่ด้อยไปกว่าท้องถิ่นใด

ทุกๆ เช้า พุทธศาสนิกชนทั้งหญิงและชายก็จะนำภัตตาหารมาคอยอยู่หน้าบ้าน เพื่อว่าเมื่อพระภิษุสงฆ์จาริกผ่านมาก็จะได้ถวายเป็นทาน เป็นกิจวัตรดังนี้เสมอมาตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว

Click on the image for full size

ฤดูกาลทีสนุกที่สุด, ครึกครื้นที่สุด, และประทับใจที่สุด ก็คือเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ของหมู่คนเมือง รอบๆ นครพิงค์ท้องถนนทุกสายจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ทั้งหญิงชาย ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นหรือจากถิ่นอื่น ทุกคนจะถือขันน้ำ เที่ยวสาดรดกันพร้อมกับคำอำนวยพรให้อยู่ดีมีสุข ตลอดระยะเวลา ทุกๆ คนได้สำแดงออกซึ่งจิตใจอันสูงส่งและดีงาม ไม่มีการขึ้งเคียดเกลียดชังกันเลย

ถนนทุกสายจึงนองเจิ่งไปด้วยน้ำ หนุ่มสาวยิ้มระรื่นชื่นบาน สงกรานต์ที่เวียงพิงค์จึงเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ผู้ที่ยังไม่เคยมาอยากจะมา ผู้ที่เคยมาแล้วก็อยากจะมาอีก

Click on the image for full size

ตั้งแต่แสงเงินแสงทองฉาบขอบฟ้า ที่ตลาดวโรรส อันเป็นตลาดสดที่ทันสมัยที่สุดแห่งตะวันออกไกล ก็จะมีแม่บ้านทั้งสาวแก่แม่ม่าย รวมทั้งหญิงสาวและชายหนุ่มมาหาซื้ออาหารประจำวันกันแน่นขนัด ยิ่งเป็นวันใกล้เทศกาล สินค้าจำพวกดอกไม้ก็จะขายดีเป็นพิเศษ เพราะมีผู้ต้องการซื้อไปถวายเป็นพุทธบูชา ตามจารีตที่กระทำสืบเนื่องกันมาช้านานแล้ว

ตลาดวโรรสจึงเป็นอีกแห่งหนึ่ง ที่อาคันตุกะไม่เคยละเว้นที่จะมาดูมาชมในตอนเช้า เพราะไม่มีที่แห่งไหนจะรวมผู้คนมากหน้าหลายตาไว้ได้เป็นแห่งเดียวเหมือนตลาดวโรรสอีกแล้ว

Click on the image for full size

การแสดงออกของน้ำใจประการหนึ่ง ที่ชาวเวียงพิงค์ได้รับการยกย่องอย่างสูง ก็คือจิตใจที่พร้อมที่จะให้อภัยและสามมัคคีธรรม ซึ่งจะเห็นได้จากเมื่อมีใครสักคนหนึ่งได้สิ้นชีวิตลงไป บ้านใกล้เรียนเคียงจะมาช่วยกันเต็มที่ ตั้งแต่จัดการศพจนถึงส่งศพสู่สุสาน ยิ่งเป็นงานศพพระ (เจ้าอาวาส) ด้วยแล้ว ผู้มาช่วยก็จะยิ่งมากขึ้นเป็นทวีตรีคูณ จนกล่าวได้ว้เป็นงานของทุกคนก็ว่าได้

การกระทำเพื่อผู้ตาย เป็นการแสดงออกถึงน้ำใจและสามัคคีธรรม เพราะมันเป็นสิ่งที่สักวันหนึ่งตัวเองจะต้องประสบ ดังนั้น. งานอย่างนี้จึงไม่มีใครคิดรังเกียจเดียดฉันท์

Click on the image for full size

เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว ก็จะถึงฤดูกาลทอดกฐิน ด้วยเหตุที่ชาวเชียงใหม่เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดต่อการแสวงบุญ และเพราะเหตุที่เชียงใหม่วมีวัดวาอารามอยู่มากมาย เมื่อถึงฤดูกาลดังกล่าวทุกเวลาบ่ายจึงมีขบวนแห่แหนองค์กฐินเวียนไปรอบๆ เวียง เพื่อบอกกล่าวป่าวร้องให้ทุกคนได้ร่วมมือกันในการจาริกแสวงบุญกุศลบริจาคทรัพย์สินร่วมกัน

นางรำ (ช่างฟ้อน) นำองค์กฐิน เป็นสิ่งที่มีมานานและก็ยังคงมีอยู่จนทุกวันนี้ ซึ่งไม่แต่คนท้องถิ่นเท่านั้น. แม้คนต่างถิ่นก็สนใจต่อการร่ายรำเป็นพุทธบูชาอันเป็น “ วัฒนธรรม “ ของชาวพิงค์นี้อย่างยิ่ง

Click on the image for full size

ธรรมดาเมืองใหญ่ที่สร้างมาแต่โบราณกาล ย่อมมีหลักเมืองเป็นมิ่งขวัญเวียงประจำอยู่ นครเชียงใหม่ก็เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่ง แต่หลักเมืองเชียงใหม่นั้นเรียกว่า “ อินทะขิล “ อยู่บริเวณวัดเจดีย์หลวง กลางเวียง ทุกๆ ปีชาวเชียงใหม่ได้จัดให้มีการสมโภชอินทะขิลขึ้น โดยจัดให้มีการตกบาตรดอกไม้เป็นเครื่องฐูชา งานสมโภชอินทะขิลจะมีเป็นเวลาตลอดหนึ่งสัปดาห์เต็ม

การตักบาตรดอกไม้บูชาหลักเมือง หรืออินทะขิลนี้ น่าสังเกตว่ามีผู้หญิงทั้งสามสาวแก่แม่หม้ายจำนวนมากกว่าผู้ชาย เป็นทำเนียมที่ชาวเชียงใหม่กระทำเป็นประจำทุกปีไม่เคยขาด เชื่อกันว่าเมื่อได้ทำการสมโภชอินทะขิลแล้ว บ้านเมืองจะสงบเรียบร้อย ชาวเมืองจะอยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้ากัน

Click on the image for full size

งานเทศกาลที่สนุกสนานอีกงานหนึ่งของเวียงพิงค์ ก็คือ งานลอยกะทงเดือนยี่เป็ง (เพ็ญเดือนสิบสอง) ตั้งแต่ตะวันยังไม่ชิงพลบ, และก่อนจะถึงวันเพ็ญเดือนเต็มดวง ผู้คนก็จะพากันหลั่งไหลมาจากทุกทิศทุกทาง ทุกคนถือกะทงเล็กๆ ไว้ในมือ แล้วเดินมุ่งหน้าสู่แม่น้ำปิงเพ่าอปล่อยกะทงลงน้ำ ในวันนี้เรียกกันว่าลอยกะทงชาวบ้าน ต่อรุ่งขึ้นจึงจะถึงวันที่มีการประกวดประขันกันเป็นงานใหญ่

นครพิงค์ถึงแม้จะเป็นเมืองใหญ่ แต่เมื่อเวลาที่มีเทศกาลประจำปีทุกคราว เวียงพิงค์ก็จะคับแคบไปถนัดใจ ทุกท้องถนนจะมีแต่คลื่นมนุษย์เต็มไปหมด เบียดเสียดยัดเยียดกันไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่แม้กระนั้นด้วยจิตใจที่ถูกบ่มสอนมาให้รู้จักการให้อภัย จึงไม่เคยมีเรื่องวิวาทกันอย่างร้ายแรงเกิดขึ้น

Click on the image for full size

พอฤดูหนาวเริ่มต้น... ก็เป็นที่รู้กันว่า. งานฤดูหนาวและงานรื่นเริงต้อนรับปีใหม่จะเวียนมาถึง ความสนใจของชาวเวียงพิงค์จึงอยู่ที่ว่าใครจะได้ครองมงกุฎนางสาวถิ่นไทยงาม และใครจะได้ครองความงามเป็นนางสาวเชียงใหม่ ? งานฤดูหนาวประจำปีจึงเป็นงานที่ใครๆ ก็รอคอย

การประกวดนางสาวถิ่นไทยงามก็ดี, การประกวดนางสาวเชียงใหม่ก็ดี ทุกๆ ปีที่ได้กระทำกันมา นับว่าเป็นสิ่งเชิดชูงานประจำปีให้ครึกครื้นยิ่งขึ้น และเป็นสิ่งที่ชาวเวียงพิงค์สนับสนุนเต็มที่ เพราะเหตุที่ว่า แต่ก่อนนั้น, หลังจากการประกวดความงามสิ้นสุดลงแล้ว โฉมไฉไลผู้มีความเป็นเยี่ยมก็จะถูกเลือกเฟ้นให้ไปชิงมงกุฎนางสาวไทยที่กรุงเทพฯ ทั้งยังเคยได้ครองมาแล้วด้วยซ้ำไป

................


Last edited by black_express on 11/01/2009 12:54 am; edited 2 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
Aishwarya
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 11/01/2007
Posts: 1721
Location: นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่

PostPosted: 10/01/2009 11:51 pm    Post subject: Reply with quote

black_express wrote:
พอเริ่มหนาว ชาวเวียงพิงค์ก็พูดถึง และรอคอยงานยิ่งใหญ่อีกงานหนึ่งซึ่งเป็นทั้ง “ งาน “ ท้ายปี-และเริ่มปี นั่นคือ.. งานรื่นเริงฤดูหนาวและต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ ๓๑ ธันวาคม และได้สิ้นสุดเอาในวันที่ ๖ มกราคม ทุกๆ ปี

ความยิ่งใหญ่ของงานนี้ ประกอบด้วยงานออกร้าน การกีฬา การมหรสพ การแสดงเพื่อความรอบรู้ และเหนืออื่นใดการประกวดนางสาวเชียงใหม่ และการประกวดนางสาวถิ่นไทยงาม ซึ่งประมวลเอาโฉมงามจากทุกถิ่นลานนาไทยมาเพื่อประชันโฉมกัน ว่าใครจะครองความเป็นเลิศ

... Cherie นั่งอ่านมาแบบละเอียดยิบเลยค่ะ ชอบจริงๆ ชอบมาก - มากที่สุด กับบทความ และสาระน่ารู้ตอนนี้ที่พี่ตึ่งหยิบยกมาให้ได้ชมค่ะ. Very Happy

ล่าสุด "การประกวดนางสาวเชียงใหม่ ๒๕๕๒" ก็เพิ่งประกวดเสร็จไปหมาดๆ เมื่อคืนนี้เองค่ะ ตอน ๒๒.๐๐ น. สดๆ ร้อนๆ ... ย้ำ! ว่าเพิ่งประกวดเสร็จจริงๆ ค่ะ และที่ Cherie ทราบผลได้เร็วจริง อะไรจริง ก็เพราะว่า ลานที่ใช้จัด "งานฤดูหนาวกาชาดประจำจังหวัดเชียงใหม่" รวมทั้ง "การประกวดนางสาวเชียงใหม่ ๒๕๕๒" อยู่หน้าบ้าน Cherie นี่เองค่ะ Shocked

ไม่ทราบว่ามันเป็นเรื่องดี หรือว่าไม่ดีนะคะ แต่ Cherie นอนดึก นอนไม่ค่อยหลับติดกันมาตั้งแต่งานเริ่มเมื่อปลายธันวาคมที่ผ่านมาแล้วล่ะค่ะ และเมื่อคืนนี้ Cherie แทบจะไม่ต้องเดินเข้าไปชมการประกวดนางสาวเชียงใหม่เลย เพราะว่าเสียงจาก microphone บรรยากาศสดๆ เสียงดังมาก กก กกก กกกก กกกกก ... ดังเข้ามาถึงใน "หมู่บ้านสมโภชน์เชียงใหม่ ๗๐๐ ปี" ที่ Cherie อาศัยอยู่ ชนิดที่ว่าได้ยินหมดเลยค่ะ ทุกคำพูด ทุกคำสัมภาษณ์ ทุกเสียงจากทางพิธีกร เสียงจากเหล่าสาวงาม ไม่ทราบว่า นี่คือสิ่งที่เค้าเรียกกันว่า "ผลพลอยได้" รึเปล่านะคะ?
Click on the image for full size
เห็นภาพบรรยากาศการเก็บตัวนั่งรถสามล้อ และกางจ้องบ่อสร้างของผู้เข้าประกวดนางสาวเชียงใหม่ ในปี ๒๔๙๘ จากพี่ตึ่งไปแล้ว ภาพที่ Cherie นำมาเสนอนี้ ก็คือ "นางสาวเชียงใหม่คนล่าสุด ประจำปี ๒๕๕๒" ที่เพิ่งชนะ ได้รับการสวมมงกุฎเมือคืนวานนี้เอง สดๆ ร้อนๆ ----- "หมายเลข ๒๐ ผ่องพรรณ แก้วมะโน" พร้อมคว้าตำแหน่ง "ขวัญใจช่างภาพสื่อมวลชน" อีกตำแหน่งนึงด้วยค่ะ ... "ผ่องพรรณ วัย ๒๐ ปี สัดส่วน Very Happy ๓๓-๒๖-๓๕ Very Happy สูง ๑.๗๖ m." ทีเดียวค่ะ ... สูงทีเดียว สำหรับหญิงยุคใหม่.

black_express wrote:
Click on the image for full size
หลังจากการประกวดความงามสิ้นสุดลงแล้ว โฉมไฉไลผู้มีความเป็นเยี่ยมก็จะถูกเลือกเฟ้นให้ไปชิงมงกุฎนางสาวไทยที่กรุงเทพฯ ทั้งยังเคยได้ครองมาแล้วด้วยซ้ำไป

พูดถึงการส่ง "นางสาวเชียงใหม่" เข้าร่วมประกวด "นางสาวไทย" ... จากสถิติที่ผ่านมา เป็นอะไรที่น่าทึ่ง และน่ายกย่อง น่าภูมิใจเป็นที่สุดค่ะ เพราะไม่ว่ากี่ปี ๆ นางสาวเชียงใหม่ มักจะทำหน้าที่ได้ดี เป็น "ตัวเก็ง" อย่างแรงสุดๆ เสมอๆ บนเวทีระดับชาติ เรามาดูสถิติช่วงปี ๒๕๒๙ - ๒๕๓๘ กันนะคะ เพราะช่วง ๑๐ ปีนี้ ถือเป็น ๑๐ ปีทองที่เหนียวแน่นมากๆ และ เป็น ๑๐ ปีที่ "การประกวดนางสาวไทย" มีความขลัง เป็นที่ยอมรับของคนระดับชาติ เป็นวาระแห่งชาติที่ใครๆ ก็ต้องจับตาเฝ้าดูทางโทรทัศน์ เรียกได้ว่า "สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย" จับทางได้ถูกต้อง ที่เลือกจับมือกับทางช่อง ๗ สี จัดการประกวด เพระหน้าที่หลักของนางสาวไทย ไม่ใช่เป็นเพียง "ผู้หญิงที่สวยที่สุดในชาติ" แต่นางจะต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนสาวไทยไปประกวด "Miss Universe" อีกด้วย ... ๑๐ ปีทองของ "นางสาวเชียงใหม่" ที่ได้รับการถูกเรียกว่าเป็น "เต็งจ๋า" บนเวที "นางสาวไทย" และทำผลงานได้ดีเปนที่เก๋ประจักษ์ มีดังนี้ค่ะ ...

๒๕๒๙ - สรารัตน์ หรุ่มเรืองวงศ์ (ได้รองนางสาวไทย ๒๕๒๙ อันดับ ๑)
๒๕๓๐ - มัลลิกา เกรียงไกร (ได้รองนางสาวไทย ๒๕๓๐ อันดับ ๓)
๒๕๓๑ - พิมพิไลย ไชยโย (ได้รองนางสาวไทย ๒๕๓๑ อันดับ ๒)
๒๕๓๒ - อรัญญา เดชารัตน์ (เข้ารอบรองสุดท้าย เป็น ๑ ใน ๑๐ นางสาวไทย ๒๕๓๒)
๒๕๓๓ - วิภาวรรณ จันทรวงค์ (ได้รองนางสาวไทย ๒๕๓๓ อันดับ ๒)

๒๕๓๔ - ปีนี้ "วาสนา มงคลรอบ" นางสาวเชียงใหม่ประจำปี ไม่สามารถเข้าประกวดนางสาวไทยได้ ทางกองประกวนางสาวเชียงใหม่ จึงส่ง "อภัสนันท์ สุทธิกุล" รองอันดับ ๑ เข้าประกวดนางสาวไทย ๒๕๓๔ แทน และได้ตำแหน่ง "รองนางสาวไทย อันดับ ๒" --- อภัสนันท์ สุทธิกุล ภายหลัง เข้าสู่วงการบันเทิง และได้เล่นละครเรื่อง "แก้วสารพัดนึก" เป็น "ยัยแก้วขาปุก" ที่โด่งดังมากๆ อยู่พักนึง ทางช่อง ๗ สีนั่นเองค่ะ.

๒๕๓๕ - ปีนี้ "นริศรา เมืองเงิน" นางสาวเชียงใหม่ประจำปี ไม่สามารถเข้าร่วมประกวดนางสาวไทยได้อีกเช่นกัน สืบเนื่องจากข่าวที่เป็นที่เคลือบแคลง น่าสงสัย และให้ภาพลักษณ์ในแง่ลบจากทางหน้าหนังสือพิมพ์ (Cherie ทราบค่ะ แต่ไม่ขอพูดถึงนะคะ HAHAHA) ทำให้ ทางกองประกวด ตัดสินใจส่ง "อรอนงค์ ปัญญาวงศ์" ขวัญใจช่างภาพจากการประกวดนางสาวเชียงใหม่ในปีนี้ เข้าประกวดนางสาวไทย และ ... "พี่อร - อรอนงค์" ก็ได้เป็น "นางสาวไทย ๒๕๓๕" ได้เป็นผลสำเร็จ ทั้งยังได้เป็นตัวแทนคนแรกของไทย ที่เข้าร่วมประกวดนางงามจักรวาลในปีเดียวกันนั้น ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพอีกด้วย พร้อมกับ "รำสาวไหม" ที่สร้างชื่อโด่งดัง เกรียวกราว ทั้งบนเวที "นางสาวไทย" และ "นางงามจักรวาล" ในปี ๒๕๓๕ ค่ะ.

๒๕๓๖ - ประภัสสร บุญญาภรณ์ (เข้ารอบรองสุดท้าย เป็น ๑ ใน ๑๐ นางสาวไทย ๒๕๓๖) ในขณะที่ "กชกร นิมากรณ์" รองนางสาวเชียงใหม่อันดับ ๑ ในปีดังกล่าว กลับเข้ารอบ ๓ คนสุดท้าย ในการประกวดนางสาวไทย และได้รับเลือกให้เป็นรองอันดับ ๒ พร้อมกับวลีเด็ดติดปากในปีนั้นว่า "เงาะว่า ตามความเห็นของเงาะนะคะ หญิงไทยทำอาหารได้เก่งกว่าหญิงต่างชาติค่ะ" HAHAHAHAHAHAHAHAHAHAHAHAHA! !!

๒๕๓๗ - กาญจนา รุ่งเรืองมณีนพรัตน์ (เข้ารอบรองสุดท้าย เป็น ๑ ใน ๑๐ นางสาวไทย ๒๕๓๗)
๒๕๓๘ - นิรชรา คำยา (เข้ารอบรองสุดท้าย เป็น ๑ ใน ๑๐ นางสาวไทย ๒๕๓๘)

เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ จะเห็นว่า ยุคดังกล่าว เป็นปีทองสุดๆ สำหรับนางสาวเชียงใหม่เลยทีเดียวค่ะ ... สวยประจักษ์ ... ต้องตาจริง อะไรจริง ... เท่านี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วล่ะค่ะ ว่า "แม่ยิงเจียงใหม่ งามแต้งามว่า" Very Happy Very Happy Very Happy

Cherie ขอขอบพระคุณพี่ตึ๋งอีกครั้งค่ะ สำหรับสาระดีๆ ที่หยิบยื่นให้ได้ศึกษาหาอ่านชม ขอบอกว่า Cherie นั่งอ่านละเอียดทุกบรรทัดเลยค่ะ ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้สึกภูมิใจ อิ่มเอมใจ ที่ได้มาอยู่ที่ "เชียงใหม่" เป็นส่วนนึงในจังหวัดที่เพียบพร้อมด้วยประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และมีเสน่หาอันน่าพิศวง น่าหลงใหล และเป็นที่ๆ ใครก็อยากจะลองมาสัมผัส มารับรู้ว่า "ดินแดนแห่งกุหลาบเวียงพิงค์" แห่งนี้ เป็นยังไงกันแน่.

ที่สำคัญ ขอบพระคุณ www.bangkok-mms.com ค่ะ สำหรับภาพสวยๆ ของ "ผ่องพรรณ แก้วมะโน" นางสาวเชียงใหม่คนล่าสุดที่เพิ่งชนะ ได้สวมมงกุฎเมื่อคืนวาน.

ป.ล. Shocked งานฤดูหนาวก็ยังคงดำเนินต่อไป ในขณะที่ Cherie นั่งพิมพ์ reply นี้ ที่ลานงาน --- "กัมบี้ - สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว" (the Star) --- ลูกหลาานชาวเชียงใหม่แท้ๆ ก็กำลังแสดง concert บนเวที เพลง "จังหวะหัวใจ" อยู่นี่อ่ะค่ะ ชัดเจนดีเหลือเกิน สงสัยคืนนี้ Cherie ได้นอนตี ๑ อีกตามเคยแน่ๆ เลยค่ะ.
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 11/01/2009 12:03 am    Post subject: Reply with quote

จริงๆ แล้วนางสาวเชียงใหม่กับสาวงามเมืองเหนือได้เข้ามาประกวดนางสาวไทยมีอยู่หลายคนนะ น่าสนใจอออก

อัมพร บุรารักษ์ (2492) กับ วาสนา รอดศิริ (2497) คนเชียงราย
นวลสวาท ลังการ์พินธุ์ (2496) กับ สุชีลา ศรีสมบูรณ์ (2497) คนลำพูน

น้องเชรี่ไม่ลองสืบค้นประวัตินางสาวไทย หรือรองที่เป็นชาวเหนือลูกข้าวนึ่ง ตั้งแต่ปี 2493 เป็นต้นมา เล่าสู่กันฟังบ้างหรือครับ ? Laughing


Last edited by black_express on 11/01/2009 12:49 am; edited 2 times in total
Back to top
View user's profile Send private message
Aishwarya
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 11/01/2007
Posts: 1721
Location: นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่

PostPosted: 11/01/2009 12:35 am    Post subject: Reply with quote

black_express wrote:
จริงๆ แล้วนางสาวเชียงใหม่กับสาวงามเมืองเหนือได้เข้ามาประกวดนางสาวไทยมีอยู่หลายคนนะ น่าสนใจอออก

อัมพร บุรารักษ์ (2492) กับ วาสนา รอดศิริ (2497) คนเชียงราย
นวลสวาท ลังการ์พินธุ์ (2496) กับ สุชีลา ศรีสมบูรณ์ (2497) คนลำพูน

น้องเชรี่ไม่ลองสืบค้นประวัตินางสาวไทย หรือรองที่เป็นชาวเหนือลูกข้าวนึ่ง ตั้งแต่ปี 2493 เป็นต้นมา เล่าสู่กันฟังบ้างหรือครับ ? Laughing

... เป็นเรื่องที่น่าสนุก และท้าทายความสามารถเป็นอย่างยิ่งเลยค่ะ พี่ตึ๋ง Very Happy อันที่จริงตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗ - ๒๕๐๖ การประกวดนางสาวไทยถูก "ยกเลิก" ไปค่ะ ว่างเว้น ไม่มีการจัดการรประกวด ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาด้านความไม่สงบบ้าง เศรษฐกิจบ้าง เพราะฉะนั้น จึงไม่มีการประกวดนางสาวไทยนะคะ นางสาวไทยในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ คนสุดท้าย ก่อนการประกวดจะถูกยกเลิก ห่างหายไป Cherie ไม่แน่ใจว่าเป็น "คุณยายสุชีรา ศรีสมบูรณ์" ในปี ๒๔๙๗ รึเปล่านะคะ เพราะว่า Cherie จะจำสับกันไปมาระหว่าง "ประชิต ทองอุไร" "อนงค์ อัชชวัฒนา" และ "สุชีรา ศรีสมบูรณ์" นี่ล่ะค่ะ ... การประกวดนางสาวไทยว่างเว้นมาเรื่อยๆ จนปี ๒๕๐๗ สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธ ถึงได้รื้อฟื้นเวทีนางสาวไทยอีกครั้งนึง ในเดือนธันวาคม ๒๕๐๗ ค่ะ โดยจัดขึ้นณ. วังสราญรมย์ การประกวดปีนี้ ได้ดาวจรัสแสงคนดังๆ ถึง ๓ คนเชียวค่ะ ทั้ง "ป้าปุ๊ก-อาภัสรา หงสกุล" เป็นนางสาวไทย ๒๕๐๗ ด้วยวัยเพียง ๑๗ ปี ตามด้วย "ป้าเปี๊ยก-อรัญญา นามวงศ์" รองอันดับ ๑ และ "ป้าแหม่ม-เนาวรัตน์ วัชรา" รองอันดับ ๔ ค่ะ ...

ส่วนเวทีนางสาวเชียงใหม่ ช่วงปี ๒๔๙๗ - ๒๕๐๗ Cherie ไม่แน่ใจนะคะ ว่าเค้ามีการงดจัดการประกวดไปเหมือนๆ กับนางสาวไทยรึเปล่า Cherie จะกลับไปทำการบ้าน และมาเผยแพร่ข้อมูลให้ได้ทราบนะคะ ขอติดไว้ก่อนค่ะ Laughing
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 11/01/2009 12:41 am    Post subject: Reply with quote

ใช่แล้วครับ ปี 2497 เป็นปีสุดท้ายของการประกวดนาวสาวไทยยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนมารื้อฟื้นอีกครั้งหนึ่งสมัยน้าปุ๊ก ปี 2507 Laughing
Back to top
View user's profile Send private message
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44710
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 11/01/2009 7:46 am    Post subject: Reply with quote

ชอบจังครับ ภาพเก่าๆ และกระทู้ชำระประวัติศาสตร์แบบนี้ Very Happy

ภาพสาดน้ำปีใหม่ ชาวบ้านแต่งตัวกันเรียบร้อยมากครับ เหมือนไปทำงานเลย
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
umic2000
2nd Class Pass
2nd Class Pass


Joined: 06/07/2006
Posts: 676
Location: Lenin Grad , U.S.S.R.

PostPosted: 11/01/2009 2:40 pm    Post subject: Reply with quote

เห็นสตรีสมัยก่อนแต่งการมิดชิดนุ่งซิ่น ใส่เสื้อแขนกระบอกยาวตลอดลำแขน ผมว่าดูสวยงาม เรียบร้อย และมีเสน่ห์ดีแท้ ผิดกับสตรีสมัยนี้นุ่งขาสั้น กระโปรงสั้น ใส่เสื้อเอวลอยมั้ง เสื้อตัวเล็กมั่ง ไม่รู้ว่าจะโชว์กันไปถึงไหน (ขนาดไปใส่บาตรก็ยังแต่งแบบนี้ไปใส่ ไม่เกรงใจพระท่านเลย Laughing )

ส่วนนางงามสมัยก่อน ผมยอมรับว่าพูดคำว่าสวยได้เต็มปากจริงๆครับ ส่วนนางงามสมัยนี้ให้พูดว่าสวยมันขัดปากอย่างไรไม่รู้ เพราะบางคนผมดูแล้วก็ยังงว่ากรรมการดูมุมไหนหนาถึงเห็นว่าสวยได้ แปลกจริงๆหรือว่าผมตาไม่ถึงเอง Wink
Back to top
View user's profile Send private message
black_express
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/03/2006
Posts: 10060
Location: อุตรดิตถ์ - กรุงเทพฯ

PostPosted: 12/01/2009 10:50 pm    Post subject: Reply with quote

Mongwin wrote:
ภาพสาดน้ำปีใหม่ ชาวบ้านแต่งตัวกันเรียบร้อยมากครับ เหมือนไปทำงานเลย


สมัยเด็ก พ่อผมเวลาออกนอกบ้านไปงานจะใส่เชิ๊ต กางเกงขายาว คาดเข็มขัด สวมถุงเท้า รองเท้าหนัง เผลอๆ ใส่หมวกด้วยนะครับ มาผ่อนคลายลงเรื่อยๆ จนถึงยุค 5 ย.นี่แหละ Hahaha

umic2000 wrote:
ส่วนนางงามสมัยก่อน ผมยอมรับว่าพูดคำว่าสวยได้เต็มปากจริงๆครับ ส่วนนางงามสมัยนี้ให้พูดว่าสวยมันขัดปากอย่างไรไม่รู้ เพราะบางคนผมดูแล้วก็ยังงว่ากรรมการดูมุมไหนหนาถึงเห็นว่าสวยได้ แปลกจริงๆหรือว่าผมตาไม่ถึงเอง


ไม่มีอะไรมากหรอกครับ สมัยนี้มีเครื่องประทินผิว มีคอร์สต่างๆ เสริมสวยปรับทรงมากมาย ซึ่งสมัยก่อนนั้นจะไม่มี ต้องเป็นคนสวยจริงๆ ถึงจะมีสิทธิ์ผ่านถึงขั้นนางสาวไทยได้
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> พักผ่อนหย่อนใจ All times are GMT + 7 Hours
Page 1 of 1

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©