RailServe.Com

Main Menu

 
icon_home.gif Homepage
icon_community.gif Members Zone
· ข้อมูลส่วนตัว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ข่าวสารส่วนตัว
· บริการเว็บเมล์
· กระดานข่าว
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก กระดานฝากข้อความ
· รถไฟไทยแกลลอรี่
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก รายนามสมาชิก
· แบบสำรวจ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก สมุดเยี่ยม
· เกี่ยวกับสมาชิก
favoritos.gif News & Stories
· เรื่องทั้งหมด
· เนื้อหาสาระ
· เรื่องสำหรับพิมพ์
· ยอดฮิตติดอันดับ
· ค้นหาข่าวสาร
· ค้นหากระทู้เก่า
nuke.gif Contents
· กำหนดเวลาเดินรถ
· ประเภทขบวนรถโดยสาร
· ข้อมูลเส้นทางรถไฟ
· แผนที่เส้นทางรถไฟ
· อัตราค่าโดยสาร
· คำนวณค่าโดยสารรถไฟ
· รูปแบบการให้บริการรถไฟ
· หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
· ทริปท่องเที่ยวโดยรถไฟ
· ระบบติดตามขบวนรถ
som_downloads.gif Services
· Downloads
· GoogleSearch
· Hotels Booking
· FlashGames
· Wallpaper 1
· Wallpaper 2
· Wallpaper 3
· Wallpaper 4
icon_members.gif Information
· เกี่ยวกับเรา
· นโยบายความเป็นส่วนตัว
· แผนผังเว็บไซต์ฯ
ใช้งานได้เฉพาะสมาชิก ส่งข้อแนะนำติชม
· ติดต่อลงโฆษณา
· แนะนำและบอกต่อ
· สถิติทั้งหมด
· สำหรับผู้ดูแลระบบ
 

Sponsors

 

Rotfaithai.Com

 

Visitors

 


มีผู้เข้าเยี่ยมชม
สมาชิก:311328
ทั่วไป:13290691
ทั้งหมด:13602019
คน ตั้งแต่
01-08-2004
 


Rotfaithai.Com :: View topic - กสท.จะยกเลิกให้บริการโทรเลขตั้งแต่ 1 พ.ค.51
 Forum FAQForum FAQ   SearchSearch   UsergroupsUsergroups   ProfileProfile   Log in to check your private messagesLog in to check your private messages   Log inLog in 

กสท.จะยกเลิกให้บริการโทรเลขตั้งแต่ 1 พ.ค.51
Goto page Previous  1, 2, 3, 4
 
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สัพเพเหระ
View previous topic :: View next topic  
Author Message
alderwood
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 10/04/2006
Posts: 6593
Location: กรุงเทพ-ราชสีมา

PostPosted: 28/02/2008 10:04 pm    Post subject: Reply with quote

ล้อมกรอบ: นับถอยหลังโทรเลขไทย

Quote:
“เราขายข้าวทั้งปี ยังไม่พอซื้อเทคโนโลยี 3G มาใช้”
ศ. ดร. สวัสดิ์ ตันตระรัตน์
ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หัวหน้าทีมนักวิจัยไทยทีมเดียวที่ศึกษาเทคโนโลยี 3G อย่างจริงจัง

Click on the image for full size


“ที่ผ่านมาประเทศเราต้องนำเข้าอุปกรณ์และเทคโนโลยีการสื่อสารจากต่างชาติทั้ง ๑๐๐% ส่วนที่ทำเองในประเทศก็เป็นเพียงการประกอบชิ้นส่วนบางอย่างโดยที่แรงงานของเราไม่ได้ใช้ความรู้มากมายนัก ต้องเท้าความก่อนว่า การพัฒนาความสามารถในการออกแบบและผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบ 3G ต้องลงทุนสูงและต้องอาศัยองค์ความรู้มาก แต่ถ้าบรรลุผลก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าได้มาก ส่วนอุตสาหกรรมประกอบอุปกรณ์นั้น ต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศที่ออกแบบและผลิตกึ่งสำเร็จมาแล้ว สิ่งที่ประเทศไทยได้มาคือค่าแรงคนงานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

“สิ่งที่ทีมของเราทำอยู่ตอนนี้ถือว่าตามหลังประเทศอื่นที่เขาเอาจริงเอาจังเป็นเวลาสิบกว่าปีมาแล้ว ซึ่งที่จริงเราควรมีการวิจัยเกี่ยวกับระบบการสื่อสารไร้สายอย่างจริงจังมานานแล้ว คำถามตอนนี้คือ รัฐบาลต้องการให้ประเทศของเรามีศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรมโทรคมนาคมหรือไม่ เพราะปัจจุบันนโยบายเรื่องนี้ก็ยังไม่ชัดเจนนัก มีแต่คำพูดสนับสนุน แต่งบประมาณและนโยบายไม่ได้ตามมา หากประเทศไทยไม่อยากเอาดีทางนี้ก็ต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศใช้เรื่อยไป ซึ่งปีหนึ่งๆ เราต้องเสียเงินตราไปเป็นจำนวนมาก

“โครงการ ‘ วิจัยและพัฒนาระบบโทรคมนาคมสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นที่ ๓‘ ผมและทีมวิจัยได้ทุนสนับสนุนจาก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ใช้งบทั้งหมดประมาณ ๔๐ ล้านบาท มีวัตถุประสงค์คือสร้างบุคลากรคนไทยที่มีความรู้และประสบการณ์ในระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G และสร้างสมองค์ความรู้ด้านระบบการสื่อสารไร้สาย มีอาจารย์และนักศึกษาร่วมอยู่ในโครงการประมาณ ๖๐ คนจากมหาวิทยาลัย ๗ แห่ง ผมคิดว่าตอนนี้กลุ่มเราน่าจะเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศที่ทำเรื่องนี้

“โครงการนี้แบ่งเป็น ๒ ระยะ ระยะที่ ๑ ศึกษาข้อกำหนดและมาตรฐานของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ซึ่งเป็นระบบที่ซับซ้อนมากทั้งทางด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เอกสารที่กำหนดมาตรฐานของระบบมีหลายพันหน้า ปัจจุบัน (มกราคม ๒๕๔๙) อยู่ระหว่างการดำเนินการในระยะที่ ๒ คือเริ่มต้นออกแบบและสร้างอุปกรณ์เกี่ยวกับ 3G ด้วยฝีมือของคนไทย... ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ ๑ ปีก็จะจบโครงการ

“แม้เราจะยังไม่สามารถผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับ 3G ได้ทั้งระบบก็ตาม แต่ผลที่ได้จากการวิจัยเบื้องต้นคือ เราสามารถออกแบบและผลิตอุปกรณ์ที่เป็นต้นแบบบางชนิดได้แล้ว เช่น สายอากาศรับส่งสัญญาณ อุปกรณ์แยกสัญญาณ อุปกรณ์ขยายสัญญาณ ซึ่งมีคุณภาพเทียบเคียงได้กับของที่ผลิตในต่างประเทศ อย่างน้อยถ้าได้นำไปใช้จริงก็จะสามารถช่วยทดแทนการนำเข้าเทคโนโลยีได้ หากลองคิดดูโดยคร่าวๆ ที่ผ่านมาประเทศเราต้องเสียเงินตราในการนำเข้าระบบและอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่หลายหมื่นล้านบาทต่อปี ถ้าสามารถผลิตได้เองในประเทศและนำมาใช้ทดแทนการนำเข้าได้สัก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ก็จะประหยัดเงินได้ปีละหลายพันล้านบาททีเดียว

“ปัจจุบันเราพบปัญหาว่า เวลาผู้ให้บริการเขาจ้างใครมาติดตั้งระบบ ผู้ที่มาติดตั้งจะไม่ยอมรับชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ของผู้ผลิตรายอื่นหรือที่เขาไม่ได้เลือกใช้ หากปรากฏว่าผู้ให้บริการนำชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ไม่ใช่ของผู้ติดตั้งมาใช้ในระบบ การรับประกันจะเป็นโมฆะทันที ปัญหานี้ทำให้เราไม่สามารถเจาะเข้าไปขอความร่วมมือให้ผู้ให้บริการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศได้ ปัญหาต่อมาคือคนไทยไม่เชื่อฝีมือคนไทย ถ้าผลิตแล้วบอกว่าไทยทำ เขาจะสงสัยว่าดีจริงหรือ แต่สินค้าเดียวกัน ถ้าลองส่งไปตีตราที่สิงคโปร์หรือประเทศตะวันตกแล้วส่งกลับเข้ามา ก็จะขายได้ ดังนั้นหากรัฐบาลจะสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ ก็ต้องสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง มิใช่เพียงคำพูด และต้องสร้างมาตรการต่างๆ ขึ้นมารองรับ เช่น กำหนดให้ผู้ที่รับจ้างวางระบบต้องใช้อุปกรณ์ที่ผลิตภายในประเทศกี่เปอร์เซ็นต์ เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเรายังทำอะไรไม่ได้มากนัก

“โครงการวิจัยนี้ก็คงเหมือนงานวิจัยทางเทคโนโลยีอีกหลายๆ โครงการของไทยที่ได้ผล แต่ก็ไม่สามารถนำสิ่งที่ได้มาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพราะไม่สามารถจะแข่งกับบริษัทต่างประเทศที่ทำวิจัยด้านนี้มานาน เขามีนักวิจัยเป็นพันคน เรามีไม่กี่สิบคน ประเทศไทยยังต้องเดินหน้าทำงานด้านนี้อีกมากถ้าต้องการจะแข่งขันกับนานาชาติ

“ผมซึ่งทำวิจัยเรื่องนี้ แม้จะเป็นธรรมดาที่อยากจะเห็นเรื่องที่ตัวเองสนใจได้มีการนำไปใช้งาน แต่หากมองอีกแง่หนึ่ง ระบบ 3G ก็ยังไม่มีความจำเป็นในสังคมไทย เราจึงไม่ควรเสียเงินทองในการติดตั้งระบบ 3G เพราะยังจะต้องลงทุนอีกหลายหมื่นล้านบาทเพื่อให้ได้เครือข่ายที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ผู้ใช้บริการก็ยังต้องหาซื้อโทรศัพท์มือถือในระบบใหม่นี้อีก ซึ่งมีราคาแพงกว่าระบบ 2G ที่ใช้กันในปัจจุบัน สมมุติแค่ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นใหม่มีราคา ๑ หมื่นบาท หากมีผู้เปลี่ยนไปใช้สัก ๑๐ ล้านคน (จากจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ประมาณ ๓๐ ล้านคนในปัจจุบัน) เราก็ต้องเสียเงินส่วนนี้ไปถึง ๑ แสนล้านบาท ปัจจุบันประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกข้าวปีละประมาณ ๑ แสนล้านบาท เทียบกันแล้วก็ดูจะเป็นการฟุ่มเฟือยและสิ้นเปลืองมาก เราขายข้าวทั้งปีก็ยังไม่พอที่จะซื้อเทคโนโลยี 3G มาใช้ และหากดูจากประวัติศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารที่ผ่านมา ผมคิดว่าตอนนี้เราควรใช้โทรศัพท์ยุค 2G และ 2.5G ไปก่อน หากมีความจำเป็นหรือถึงเวลาที่เหมาะสม ก็อาจกระโดดไปใช้ระบบ 4G หรือระบบใหม่อื่นๆ เช่น WiMAX ที่จะมาในอนาคต “ผมมองว่ามันคงไม่ใช่เรื่องสมควรถ้าเราจะพยายามเปลี่ยนไปใช้ระบบ 3G ที่มีราคาแพงเพียงเพื่อความทันสมัย ทั้งๆ ที่มันยังไม่มีความจำเป็นใดๆ ต่อสังคมและชีวิตประจำวันของเรา”

_________________
รักรถไฟมั่นใจโคปเตอร์ || Railway Racing Team || Korat Spotter
Click on the image for full size
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website MSN Messenger
alderwood
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 10/04/2006
Posts: 6593
Location: กรุงเทพ-ราชสีมา

PostPosted: 28/02/2008 10:06 pm    Post subject: Reply with quote

ล้อมกรอบ: นับถอยหลังโทรเลขไทย

Quote:
“ ‘ถึงกรุงเทพฯ แล้ว สบายดี’ ข้อความแบบนี้สำคัญมากสำหรับภรรยาผม”นพ. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Click on the image for full size

“คนไทยยุคก่อนคุ้นเคยกับโทรเลขเพราะมีทางเลือกในการติดต่อส่งข่าวสารไม่มากนัก ยิ่งคนมีรายได้น้อยแล้วต้องการส่งข่าวด่วนละก็ โทรเลขถือเป็นทางเลือกเดียว ส่วนคนที่มีฐานะก็จะมีโทรศัพท์ใช้

“ผมใช้โทรเลขบ่อยช่วงปี ๒๕๒๙-๒๕๓๑ ตอนนั้นอายุได้ ๒๗ ปี แต่งงานได้ ๒ เดือนแล้ว อยู่กับภรรยาที่เชียงราย แต่เมื่อต้องมาเรียนต่อเป็นเวลาถึง ๓ ปีในกรุงเทพฯ ก็ทำให้ต้องแยกกันอยู่กับภรรยา มีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านแค่วันหยุดเสาร์-อาทิตย์หรือวันหยุดยาวเท่านั้น ทีนี้เมื่อต้องไปมาระหว่างเชียงราย-กรุงเทพฯ โดยเฉพาะการนั่งรถทัวร์ขากลับจากเชียงรายลงมา สมัยนั้นก็ต้องเข้าใจว่านี่ไม่ใช่การเดินทางที่สะดวกหรือปลอดภัยนัก ดังนั้นเมื่อถึงที่หมายในตอนเช้าแล้ว ก่อนจะไปเรียนหนังสือ ผมก็จะต้องส่งโทรเลขบอกภรรยาว่า ‘ถึงกรุงเทพฯ แล้ว สบายดี’ ข้อความแบบนี้ส่งบ่อยที่สุดและสำคัญมากสำหรับภรรยาผม ส่วนอีกภารกิจในการส่งโทรเลขของผมกับภรรยา คืออวยพรวันเกิด

“ในที่ทำการไปรษณีย์สมัยก่อน บริการโทรเลขจะอยู่ด้านหน้าเคาน์เตอร์และอยู่ช่องเดียวกับบริการรับ-ส่งธนาณัติ สิ่งที่เราต้องทำคือแค่กรอกแบบฟอร์ม ระบุข้อความ ที่หมาย ชื่อผู้ส่งและชื่อผู้รับโดยละเอียด

“แม้โทรเลขจะเป็นการสื่อสารทางเดียว (one-way communication) แต่ผมก็ไว้ใจ ผมเชื่อถือระบบโทรเลขและทรัพยากรบุคคลของกรมไปรษณีย์โทรเลขสมัยนั้นมาก ไม่เคยได้ยินว่าโทรเลขมีความผิดพลาดสักครั้งในการส่ง ไม่เคยตั้งข้อสงสัยเลยว่าจะถึงหรือไม่ คือเชื่อว่าโทรเลขต้องถึงผู้รับแน่นอน อีกทั้งบ้านภรรยาผมก็อยู่ในตัวเมืองเชียงราย ย่อมจะได้รับโทรเลขเร็วอยู่แล้ว อย่างผมส่งตอนเก้าโมง พอสิบโมงเช้าภรรยาผมได้แล้ว บางครั้งจึงสามารถส่งโทรเลขไปในช่วงเช้าเพื่อบอกให้ภรรยาช่วยโทรศัพท์มาหาตอนกลางคืน พอสามทุ่มผมก็ไปรอโทรศัพท์ได้ทันที

“เมื่อ ๒๐ ปีก่อน การโทรศัพท์ไม่ใช่เรื่องง่าย บ้านผมที่กรุงเทพฯ ก็ไม่มีโทรศัพท์ ดังนั้นผมต้องกำหนดสถานที่ให้ชัดเจนในข้อความที่ส่งไปกับโทรเลขว่าจะไปรอรับโทรศัพท์ที่ไหน บางทีก็เป็นที่โรงพยาบาลหรือคลินิกซึ่งเป็นที่ทำงาน ภรรยาผมก็เช่นกัน ต้องหาตู้โทรศัพท์ ต้องเตรียมเหรียญเพื่อที่จะโทรมาหาผม และถ้าเขาอยากให้ผมโทรศัพท์ไปหา เขาเป็นพยาบาลก็ต้องดูเวลาที่เขาจะเข้าเวรในที่ทำงานซึ่งมีเครื่องรับโทรศัพท์ แล้วจึงโทรเลขมาบอกให้ผมติดต่อกลับไป ถึงตอนกลางคืนผมก็เดินหาตู้โทรศัพท์แล้วโทรไป

“การที่ผมเลือกวิธีโทรเลขไปหาภรรยาแล้วคอยให้เขาโทรศัพท์กลับมาหาตอนค่ำ แทนที่จะโทรศัพท์ไปที่ทำงานของภรรยาที่เชียงราย ก็เพราะสมัยนั้นค่าโทรศัพท์ยังแพงมาก ตอนกลางวันนาทีละ ๑๘ บาท ๒ นาที ๓๖ บาท ๓ นาที ๗๒ บาท ๕ นาทีไม่มีเงินใช้แล้วครับ ยุคนั้นข้าวในมหาวิทยาลัยจานละ ๕ บาทเอง ส่งโทรเลขก็เสียเงินไม่เกิน ๒๐-๓๐ บาท แล้วแต่ความยาว ถ้าผมโทรศัพท์ไปแล้วต้องรอให้คนไปตามภรรยามาคุย กว่าเขาจะตามเจอไม่รู้จะหมดเงินไปเท่าไร ส่วนเวลาที่ภรรยาโทรมาหาผม เขาก็ใช้ตู้โทรศัพท์สาธารณะในเวลากลางคืน ซึ่งองค์การโทรศัพท์ฯ สมัยนั้นคิดค่าบริการครึ่งราคา ทำให้ค่าใช้จ่ายถูกกว่ามาก

“ตอนที่ภรรยาผมสอบเข้าเรียนต่อในหลักสูตรพยาบาลเวชปฏิบัติ โรงพยาบาลรามาธิบดี แล้วผมทราบผลการสอบนั้นจากประกาศที่ติดว่าเขาได้เรียนต่อ แล้วต้องมาสัมภาษณ์ สมมุติผมรู้ผลวันที่ ๑๒ แล้ววันที่ ๑๔ เขากำหนดให้ภรรยาผมต้องมารายงานตัวพร้อมชุดพยาบาล การส่งโทรเลขเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แน่นอนตอนนั้นผมไม่มีเงินโทรศัพท์ทางไกลไปบอก (หัวเราะ) ส่งจดหมายก็ไม่ทัน เลยเลือกวิธีนี้ ซึ่งถ้าพูดกันจริงๆ การฝากโทรเลขให้บุรุษไปรษณีย์นำไปส่งเชื่อถือได้พอๆ กับการที่โทรศัพท์บอกให้ญาติภรรยาที่ผมไว้ใจเป็นคนไปบอกต่อเลยนะครับ

“สมัยนั้นผมกับภรรยายังเขียนจดหมายถึงกันทุกวัน จดหมายต่างหากที่ให้ความรู้สึกลุ้นกว่าโทรเลข ว่าจะมาเมื่อไร ผมใช้โทรเลขก็เมื่อมีธุระเท่านั้นเพราะถือว่าแพงเหมือนกัน มีบ้างที่จีบกันผ่านโทรเลขซึ่งเราไม่ได้เขินอะไรครับถ้าเจ้าหน้าที่จะเห็นข้อความ เพราะเขามีความเป็นมืออาชีพมาก

Click on the image for full size


“ทุกวันนี้ยังมีโทรเลขเก่าๆ ที่ภรรยาผมเก็บไว้อยู่ประมาณ ๑๔ ฉบับ เพราะเขาเก็บจดหมายที่ผมส่งถึงเขาเอาไว้ด้วย โทรเลขจึงอยู่รอดมาด้วยกัน

“เท่าที่ผมเคยฟังจากคนอื่น ข่าวสารที่มากับโทรเลขมักจะเป็นข่าวร้าย พอมีใครตายใครเจ็บคนก็จะส่งโทรเลขบอกข่าวกัน แต่ผมเองใช้ทำธุระอยู่เป็นประจำ ความรู้สึกเมื่อได้รับโทรเลขจึงมีแค่คิดว่าคงจะต้องมีบางอย่างรีบด่วน แต่ไม่ได้กลัวโทรเลขเหมือนบางคนกลัว

“ผมเลิกใช้โทรเลขตั้งแต่เรียนจบแล้วกลับไปอยู่ที่เชียงราย ข่าวที่ว่าจะมีการยกเลิกโทรเลขผมไม่รู้สึกอะไร เทคโนโลยีอยู่กับสังคมมนุษย์ ถ้าหมดประโยชน์ก็ต้องเลิก”

_________________
รักรถไฟมั่นใจโคปเตอร์ || Railway Racing Team || Korat Spotter
Click on the image for full size
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website MSN Messenger
alderwood
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 10/04/2006
Posts: 6593
Location: กรุงเทพ-ราชสีมา

PostPosted: 28/02/2008 10:09 pm    Post subject: Reply with quote

ล้อมกรอบ: นับถอยหลังโทรเลขไทย

Quote:
ว่าด้วยเรื่อง “ตะแลแกรบ”
โลกรู้จักกับ “โทรเลข” (Telegraph) และเทคนิคการทำงานของมันเป็นครั้งแรกในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๔๔ (พ.ศ. ๒๓๘๗) เมื่อ แซมมวล มอร์ส (Samuel Morse) ชาวอเมริกัน ผู้ประดิษฐ์เครื่องส่งสัญญาณไฟฟ้าทางไกลและคิดค้นรหัสแทนตัวหนังสือ ได้ทดลองใช้สัญญาณไฟฟ้าดังกล่าวส่งข่าวสารผ่านรหัสที่เขาคิดค้น จากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ไปยังเมืองบัลติมอร์ได้เป็นผลสำเร็จ

Click on the image for full size


สำหรับมอร์ส วันนั้นถือเป็นวันที่เขาประสบความสำเร็จที่สุดในชีวิต ทั้งความพยายามที่จะเยียวยาจิตใจก็ลุล่วง

สิบเอ็ดปีก่อนหน้านี้ มอร์สทราบข่าวการเสียชีวิตของภรรยาล่าช้าไปถึง ๓ วัน จึงทำให้เขาตั้งใจแน่วแน่ว่าจะต้องคิดค้นวิธีการสื่อสารที่รวดเร็วยิ่งกว่าจดหมายขึ้นมาให้ได้ หลังจากนั้นมอร์สก็ทุ่มเทเวลาไปกับการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับแม่เหล็กไฟฟ้า พร้อมเก็บเงินทีละเล็กทีละน้อยซื้ออุปกรณ์สร้างเครื่องส่งโทรเลข และทำการทดลองจนประสบความสำเร็จในที่สุด

เทคนิคที่มอร์สคิดค้นขึ้นมาจากการกดสวิตช์ไฟอย่างง่าย สวิตช์ดังกล่าวประกอบด้วยสปริงทองเหลือง ส่วนปลายมีปุ่มสำหรับกด ซึ่งติดกับสปริงและแม่เหล็กไฟฟ้าอันเล็กๆ เมื่อกดปุ่มแล้ว กระแสไฟฟ้าก็จะเดิน ถ้ายกมือออกจากปุ่ม กระแสไฟฟ้าก็จะตัด สวิตช์นี้จะทำหน้าที่ส่งกระแสไฟฟ้าเป็นช่วงสั้นและช่วงยาว ก่อให้เกิดรหัสสัญญาณโทรเลข หรือที่เรียกกันว่า “รหัสมอร์ส” ซึ่งการทำงานของมันก็คือ กดปุ่มแล้วปล่อยทันที (กดสั้น) ได้ผลเป็นจุด (O) ถ้ากดปุ่มค้าง (กดยาว) ได้ผลเป็นขีด (-) โดยมอร์สได้คิดค้นรหัสแทนตัวหนังสือไว้แล้วว่า การเรียงจุดและขีดแบบใด หมายถึงตัวอักษรหรือตัวเลขใด

ในเมืองไทย ก่อนหน้าจะมีการบัญญัติคำ “โทรเลข” ขึ้นใช้ ก็มีการเรียกทับศัพท์ระบบการสื่อสารชนิดนี้กันอยู่แล้ว เช่นใน จดหมายเหตุของหม่อมราโชทัย ใช้ว่า “เตลคราฟ” ในเอกสารเก่าอื่นๆ ก็จะพบคำ “เตเลแครฟ” หรือใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๔) จะเรียกสิ่งนี้ว่า “ตะแลแกรบ” ส่วนคำว่า “โทรเลข” นั้นมีหลักฐานว่าเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการพร้อมกับคำว่า “ไปรษณีย์” โดยรัชกาลที่ ๕ ทรง “ตรัสเผดียง (บอกกล่าว) ให้สมเด็จพระสังฆราช (สา) คิดชื่อ จึงเกิดคำไปรษณีย์และโทรเลขแต่นั้นมา” (สาส์นสมเด็จ เล่ม ๒๔ หน้า ๑๔-๑๕)

จากยุคแรกเริ่มที่ใช้รหัสมอร์สในการส่งข้อความ นิยามของ “โทรเลข” ได้คลี่คลายไปตามกาลเวลาและเทคนิควิธีการส่งสัญญาณที่เปลี่ยนแปลงไป

ปัจจุบัน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามความหมายของ “โทรเลข” ไว้ว่า

“น. ระบบโทรคมนาคมซึ่งใช้อุปกรณ์ทางไฟฟ้าส่งรหัสสัญญาณจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยอาศัยสายตัวนำที่โยงติดต่อถึงกัน (หมายถึงการส่งสัญญาณผ่านสายลวด-ผู้เขียน) และอาศัยอำนาจแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นหลักสำคัญ (อ. Telegraph)”

ขณะที่ พจนานุกรม ฉบับมติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๔๗ ให้ความหมายไว้ว่า

“น. การสื่อสารซึ่งใช้อุปกรณ์ทางไฟฟ้าส่งรหัสสัญญาณจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยแปลรหัสเป็นตัวอักษร (อ. Telegraph)”

จะเห็นได้ว่า พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ยังคงความหมายของ “โทรเลข” ยุคดั้งเดิมเอาไว้ ด้วยโทรเลขยุคนั้นยังส่งรหัสสัญญาณจากต้นทางไปถึงปลายทางโดยผ่านทางสายลวด ขณะที่ พจนานุกรม ฉบับมติชน มีลักษณะของ “วิทยุโทรเลข” เพิ่มเข้ามา โดยความหมายที่ให้ไว้ไม่ได้จำกัดว่าโทรเลขต้องส่งผ่าน “สายตัวนำที่โยงติดต่อถึงกัน” เท่านั้น ซึ่งการส่งโทรเลขแบบที่ข้ามขอบเขตดังกล่าวได้ ก็คือ “วิทยุโทรเลข” ที่ส่งรหัสมอร์สเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องอาศัยสายลวดเป็นสื่อนั่นเอง

สุภาพ เกษมุนี ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารข้อความ บมจ. กสท โทรคมนาคม อดีตนายช่างกรมไปรษณีย์โทรเลข กล่าวว่า หากจะนับเฉพาะระบบโทรเลขแบบส่งตามสายที่เป็นบริการสาธารณะตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน การปรับปรุงระบบส่งข้อความอาจแบ่งคร่าวๆ ได้เป็น ๓ ช่วงเวลา คือ จาก “เครื่องรับ-ส่งรหัสมอร์ส” (๒๔๑๘) มาเป็น “โทรพิมพ์” (๒๔๗๒) ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นระบบคอมพิวเตอร์ (๒๕๑๙) จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้การเปลี่ยนผ่านในแต่ละยุคจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

โดยยุคแรก คือยุคที่ใช้รหัสมอร์สในการส่งข้อความนั้น ขั้นตอนการส่งโทรเลขจะเริ่มตั้งแต่ผู้ใช้บริการเดินทางไปยังที่ทำการไปรษณีย์หรือที่ทำการโทรเลข กรอกแบบฟอร์มส่งโทรเลขที่มีช่องว่างให้เขียนชื่อผู้ส่ง ผู้รับ จุดหมายปลายทาง และข้อความที่ต้องการส่ง จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะทำการนับคำและคิดค่าบริการ

“ค่าบริการโทรเลขคิดตามจำนวนคำ โดยแบ่งเป็น คำนาม คำสรรพนาม คำวิเศษณ์ คำกริยา เช่นคำว่า ‘ถึง’ นับเป็น ๑ คำ ‘วันที่’ นับเป็น ๑ คำ เลข ‘๑‘ นี่ก็นับเป็น ๑ คำ ส่งได้ไม่จำกัดจำนวนคำ ส่งมากเสียเงินมาก ส่งไปได้ทุกที่ทั่วประเทศ ยุคแรกคำละ ๑ เฟื้อง มาถึงยุคนี้คำละ ๑ บาท ถ้าเป็นโทรเลขด่วนก็คำละ ๒ บาท เป็นราคาที่ไม่เปลี่ยนแปลงมาหลายสิบปีแล้ว”

ถัดจากนั้นก็เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนของผู้ใช้บริการและเข้าสู่ขั้นตอนของเจ้าหน้าที่โทรเลข ซึ่งจะทำการแปลงข้อความเป็นรหัสมอร์ส แล้วใช้เครื่องส่งรหัสมอร์สเคาะสัญญาณเป็นจังหวะสั้น-ยาว ส่งเป็นสัญญาณไฟฟ้าไปตามสายลวด ซึ่งส่วนใหญ่มักจะปักคู่ไปกับรางรถไฟ

“ยุคแรกการเคาะรหัสมอร์สจะมีหลักฐานออกมาเป็นขีดและจุดบนแถบกระดาษ คนรับสัญญาณต้องแปลเป็นประโยค การส่งหรือรับสัญญาณทำแบบจุดต่อจุด ยกตัวอย่าง สถานี A ไปสถานี B และ C หากสถานี A ต้องการติดต่อทั้งสถานี B และ C ก็ต้องพาดสายจาก A ไปยัง B และจาก A ไปยัง C โดยตรง ซึ่งยุ่งยาก ต่อมาจึงมีการพัฒนาให้มีตัวกลางทำหน้าที่รับ-ส่งข้อความระหว่างที่ทำการต่างๆ โดยสร้าง ‘ที่ทำการโทรเลขกลาง’ ขึ้น คือโยงสายทุกสายมาที่นี่ แล้วใช้ที่นี่เป็นศูนย์กลางส่งข้อความต่อ”

หลังจากใช้ระบบรับ-ส่งรหัสมอร์สในลักษณะนี้ไปได้สักระยะ ก็พบปัญหาว่า การรับรหัสมอร์สโดยการนำแถบกระดาษที่ออกจากเครื่องรับสัญญาณซึ่งจะปรากฏเป็นขีดและจุดมาแปลเป็นข้อความอีกทีนั้น ค่อนข้างยุ่งยากและเสียเวลา จึงเปลี่ยนให้เจ้าหน้าที่รับสัญญาณฟังสัญญาณรหัสมอร์สจากเครื่องรับโดยตรง แล้วทำการแปลเป็นข้อความทันที จากนั้นจึงนำข้อความที่ได้บรรจุซองให้ “บุรุษโทรเลข” นำไปส่งให้ถึงมือผู้รับภายในเวลาไม่เกิน ๒ ชั่วโมง ทั้งนี้สำเนาโทรเลขฉบับนั้นจะถูกเก็บรักษาเอาไว้ประมาณ ๒ ปี ก่อนทำลายทิ้ง

มาในยุคที่ ๒ โทรพิมพ์ค่อยๆ เข้ามาแทนที่การรับ-ส่งโทรเลขแบบเดิมอย่างช้าๆ ด้วยเครื่องที่มีลักษณะคล้ายพิมพ์ดีด แต่มีขนาดใหญ่มาก สามารถพิมพ์ข้อความส่งไปยังเครื่องปลายทางที่ต้องการได้โดยอาศัยสัญญาณไฟฟ้า แม้จะลดขั้นตอนการทำงานจากเดิมไปได้มาก แต่ลักษณะการทำงานรวมทั้งประสิทธิภาพโดยรวมยังไม่นับว่าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก

จนมาในยุคที่ ๓ เมื่อคอมพิวเตอร์ก้าวเข้ามา จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบการทำงานอย่างเห็นได้ชัด และถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการโทรเลขไทย เอกสารเก่าของกองสื่อสารข้อความ การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กรมไปรษณีย์โทรเลขเดิม) ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ให้นิยาม “โทรเลข” ยุคนี้ไว้ว่า “หมายถึงการรับฝาก-ส่งข้อความข่าวสารต่างๆ จากต้นทางแห่งหนึ่งไปยังปลายทางแห่งหนึ่ง โดยผู้ฝากส่งเขียนข้อความข่าวสารต่างๆ ที่จะส่งไปให้ผู้รับปลายทางในแบบฟอร์มที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยกำหนด โดยการสื่อสารแห่งประเทศไทยจะส่งข้อความเหล่านั้นไปทางเครื่องคอมพิวเตอร์ ไปยังที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขปลายทางเพื่อนำจ่ายให้แก่ผู้รับโดย ‘บุรุษโทรเลข’ “

กล่าวคือ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับข้อความในแบบฟอร์มที่ผู้ใช้บริการกรอกไว้ ก็จะพิมพ์ข้อความนั้นผ่านคอมพิวเตอร์ (ที่เป็นเครื่องรับ-ส่งโทรเลข หรือ Telegraph Terminal) จากนั้นข้อความดังกล่าวจะถูกส่งไปยังชุมสายโทรเลขอัตโนมัติ (Message Switching Center) ที่บางรัก ซึ่งจะทำการคัดแยกโทรเลขแต่ละฉบับด้วยการอ่านรหัสปลายทางที่ระบุอยู่ในโทรเลขแต่ละฉบับ เมื่อโทรเลขถึงปลายทาง (ซึ่งก็คือที่ทำการไปรษณีย์ต่างๆ) แล้ว ก็จะถูกจัดพิมพ์ออกมา ก่อนจัดส่งให้ถึงมือผู้รับโดย “บุรุษไปรษณีย์” ผ่านระบบไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้ หากไม่มีปัญหาขัดข้องทางเทคนิค จะใช้เวลาไม่เกิน ๑ วัน

ปัจจุบัน สื่อกลางในการรับ-ส่งโทรเลขยังเพิ่มขึ้นจากเดิม คือนอกจากจะส่งผ่านสายลวดและคลื่นวิทยุแล้ว ยังสามารถส่งผ่านสื่ออื่นๆ อาทิ สายโทรศัพท์ คลื่นไมโครเวฟ (ผ่านดาวเทียม) รวมไปถึงระบบอินเทอร์เน็ตได้อีกด้วย


-----------------------------------------------------------------

หมดแล้วครับ บทความเกี่ยวกับโทรเลขจากนิตยสารสารคดี ขออภัยถ้านอกเรื่องรถไฟเสียยืดยาวครับ

ขอขอบคุณนิตยสารสารคดีสำหรับบทความนี้ครับ
_________________
รักรถไฟมั่นใจโคปเตอร์ || Railway Racing Team || Korat Spotter
Click on the image for full size
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website MSN Messenger
Mongwin
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 24/09/2007
Posts: 44883
Location: ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี สายสงขลา

PostPosted: 29/02/2008 10:48 am    Post subject: Reply with quote

ขอบคุณคุณ alderwood อีกครั้งครับ
สงสัยคงต้องไปส่งโทรเลข เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกแล้วครับ
เดี๋ยวเป็นแบบตั๋วแข็งรถไฟ ที่ไม่ได้เก็บไว้เลย เสียดายมาก
Back to top
View user's profile Send private message Visit poster's website
rodfaithai
1st Class Pass (Air)
1st Class Pass (Air)


Joined: 10/07/2006
Posts: 1346

PostPosted: 13/05/2008 10:58 am    Post subject: Reply with quote

don153t wrote:
ของนักวิทยุสมัครเล่นขั้นกลาง น่าจะยกเลิกกับเขาบ้าง แทงกั๊กกันเหลือเกิน อ้างว่า เพื่อ อนุรักษ์


วันใดโดนพายุราบไปทั้งเมืองเหมือน Darwin แล้วจะรู้สึก

ดูนี่ครับ

http://www.100watts.com/smf/index.php?topic=598.0

SMS ที่ว่าแน่ ก็ยังแพ้ Morse Code

ผมคิดว่าไม่ใช่แค่อนุรักษ์ครับ แต่ Morse Code เป็นเครื่องช่วยชีวิต เหมือนเรือชูชีพยังไงยังงั้น
รู้ไว้ไม่เสียหลายครับ เหมือน ว่ายน้ำเป็น ย่อมดีกว่าว่ายน้ำไม่เป็น

เราต้องใช้กำลังส่ง เสียงพูด ผ่านสัญญาณ FM หรือแม้แต่ SSB กี่วัตต์ ์สัญญาณถึงจะไปได้ พันไมล์ แต่ถ้าใช้รหัสมอร์ส แค่วัตต์เดียว พันไมล์ ไม่ใช่เรื่องแปลก

5 วัตต์ จากสงขลา คุยกับยุโรปสบายๆ ด้วยสายอากาศที่ทำมาจากสายไฟ VFF ขนาด 0.5 ราคาไม่กี่ตังค์

เหมาะกับกระแสโลกร้อนดีแท้ Rolling Eyes

เคยได้ยินเรื่องสมัยสงครามเวียตนามไหมครับ ที่เวียตนามเหนือเอานักบินอเมริกันที่โดนยิงตกมาออกทีวี
คนทั่วไปก็คงคิดว่าแค่นั้น
แต่คนที่รู้รหัสมอร์ส จะเห็นว่า นักบินกระพริบตา เป็นรหัสมอร์ส บอกหน่วยเหนือ(ที่ดูทีวีอยู่)ว่าเค้า โดนทรมาน

ยังมีอีกหลาย case เช่น คน/ทหารที่โดนจับไปขัง หรือ เรือดำน้ำที่จมอยู่ ก็อาศัยรหัสมอร์สทั้งนั้นครับ
Back to top
View user's profile Send private message
Display posts from previous:   
Reply to topic    Rotfaithai.Com Forum Index -> สัพเพเหระ All times are GMT + 7 Hours
Goto page Previous  1, 2, 3, 4
Page 4 of 4

 

Share |

Jump to:  
You cannot post new topics in this forum
You cannot reply to topics in this forum
You cannot edit your posts in this forum
You cannot delete your posts in this forum
You cannot vote in polls in this forum

Powered by phpBB © 2001, 2005 phpBB Group


Forums ©